ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือน เม.ย. มูลค่า 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 13.57% ฟื้นตัว 8 เดือนติด หากรวมทองคำมีมูลค่า 800.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 36.74% เหตุส่งออกลด หลังราคาทองแพง เก็งกำไรลดลง
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน เม.ย. 67 มีมูลค่า 511.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.57% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 800.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 36.74% ส่วนยอดรวม 4 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,025.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 13.39% หากรวมทองคำ มูลค่า 4,915.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.83%
“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยฟื้นตัวดีขึ้น เงินเฟ้อลดลง การท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ทองคำส่งออกได้ลดลง เพราะตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนทำนิวไฮในเดือน เม.ย. ทำให้การเก็งกำไรมีความเสี่ยง ผู้ส่งออกเลยไม่กล้าที่จะส่งออก ส่งผลให้การส่งออกไปเก็งกำไรลดลง”
ทั้งนี้ การส่งออกทองคำรวม 4 เดือน มีมูลค่า 1,890.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 30.61% แยกเป็น ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 75.02% และ เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยฮ่องกง เพิ่ม 27.20% สหรัฐ เพิ่ม 11.91% อินเดีย เพิ่ม 90.33% เยอรมนี เพิ่ม 16.62% เบลเยียม เพิ่ม 69.43% อิตาลี เพิ่ม 2.31% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 2.13% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 26.54% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.99% แต่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 19.93%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 11.76% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 27.37% พลอยก้อน เพิ่ม 89.02% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 7.99% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 23.73% เพชรก้อน เพิ่ม 48.31% เพชรเจียระไน เพิ่ม 11.72% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 14.83% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 33.90% ส่วนทองคำ ลด 30.61% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 41.91%
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ เพราะหลายประเทศมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้มีแรงซื้อสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องจับตาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่จีดีพีไตรมาสแรกต่ำกว่าที่คาด โตแค่ 1.6% จากเป้า 2.4% และยังมีความกังวลการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ส่วนสหภาพยุโรป ไตรมาสแรกโต 0.3% ขยายตัวต่ำ การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน และยังมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น สหรัฐ-จีน ที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะงัก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังตึงเครียด โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง