กขค.ยันแล้ว BYD หั่นราคาไม่ผิด ก.ม.แข่งขัน ชี้ไม่ได้ต่ำกว่าทุน แถมผู้บริโภคได้ประโยชน์

เลขาฯ กขค. ยันแล้ว BYD ลดราคาเป็นแสน ไม่ผิด ก.ม. แข่งขันทางการค้า เหตุไม่ได้ขายสินค้าในไทยต่ำกว่าทุนเพื่อฆ่าคู่แข่ง และไม่ได้บังคับซัพพลายลดราคาขายอะไหล่ให้ ชี้แค่ยอมขาดทุนกำไร ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แถมไม่มีใครร้องเรียนเข้ามา

นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงกรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บีวายดี ลดราคาขายในไทยคันละหลายแสนบาทว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า บีวายดีไม่ได้ขายรถอีวีในไทยในราคาต่ำกว่าทุนแปนผันเฉลี่ยเพื่อเป็นการฆ่าคู่แข่ง และยังไม่ได้บังคับให้ซัปพลายเออร์ ต้องลดราคาขายชิ้นส่วน หรืออะไหล่รถยนต์ให้กับบริษัท จึงไม่ได้เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เพราะเท่าที่ทราบ ราคาที่ขายในไทย ยังแพงกว่าราคาที่ขายในจีน แม้ถูกกว่าที่ขายในยุโรป อีกทั้งการลดราคาดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทำลายคู่แข่ง แต่ทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้บริโภคได้ประโยชน์

“ผมมองว่า บีวายดี น่าจะยอมขาดทุนกำไร หรือกำไรของตัวเองลดลง ซึ่งผู้บริโภคน่าจะได้ประโยชน์ เพราะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า การขายราคาต่ำกว่าทุนสามารถทำได้ในบางกรณี แต่ต้องมีเหตุผลทางธุรกิจ และทำภายในเวลาที่จำกัด เช่น ล้างสต๊อกสินค้า หรือทดลองตลาดสำหรับสินค้าที่จะออกใหม่ เป็นต้น”

ทั้งนี้ กขค. ไม่จำเป็นต้องเชิญค่ายรถยนต์มาหารือ เพราะพฤติกรรมยังไม่เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนถึงการแข่งขันทางการค้าเข้ามา แต่ กขค. ก็จับตาการแข่งขันของรถยนต์อีวีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ส่วนกรณี บีวายดี ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นในส่วนของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้า ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดูแลอยู่แล้ว

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ กขค. ในการส่งเสริมและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อเสริมพลังเพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแล พร้อมกับดูแลประชาชนและผู้บริโภคทั่วประเทศให้ได้รับประโยชน์ โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สำหรับสนับสนุนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินค้าและบริการ และใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม

“กรมมีช่องทางการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 อยู่แล้ว หากประชาชน หรือผู้ประกอบการ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า ก็สามารถร้องเรียนมาได้ หากเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า กรมก็จะส่งต่อให้ กขค. พิจารณาซึ่งถือเป็นการช่วยกันสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap