“นภินทร” ปลื้ม Startup ไทย คว้ารางวัล WIPO Global Award 2024 สาขา Medical Technology จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ย้ำ ไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ด้วย “ทรัพย์สินทางปัญญา”
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมยินดีกับ บริษัท เมติคูลี่ (Meticuly) จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพของไทย ได้รับรางวัล WIPO Global Award ประจำปี 2024 สาขา Medical Technology ที่จัดโดย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยยกให้เป็น “สตาร์ทอัพตัวอย่าง” ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างธุรกิจ และสร้างคุณประโยชน์ต่อสาธารณะ ระบุรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทย เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้จัดพิธีมอบรางวัล WIPO Global Award ประจำปี 2024 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งการแข่งขันรางวัล WIPO Global Award เป็นรางวัลที่ยกย่อง SMEs และ Startup ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยีขั้นสูง ในการสร้างนวัตกรรม สร้างธุรกิจ และสร้างคุณประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ เป็นต้น โดยในปีนี้ มีผู้สมัคร กว่า 660 บริษัท จากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยการคัดเลือกมีคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากหลากหลายสาขา ทำให้เป็นรางวัลที่ทรงเกียรติและสำคัญยิ่ง”
นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า “รางวัลดังกล่าว ถือเป็นสุดยอดความภาคภูมิใจของคนไทย เป็นรางวัลการันตีศักยภาพของ SME และ Startup ของไทย โดยบริษัทที่ได้รับรางวัลในสาขา Medical Technology ปีนี้ ได้แก่ บริษัท เมติคูลี่ (Meticuly) จำกัด ซึ่งเป็น Startup สายเครื่องมือแพทย์อัจฉริยะ ผู้พัฒนาและใช้ AI ในการออกแบบกระดูกเทียมไททาเนียม เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสามมิติ ทำให้ผลิตกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังผลิตอุปกรณ์ช่วยลดระยะเวลาผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพ ในการรักษาผู้ป่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยได้ขอรับสิทธิบัตรแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และไทย เป็นต้น
“ขอชื่นชมบริษัทที่พัฒนาตนเองและได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และถือว่าเป็นเครื่องหมายการันตีว่า Startup ของไทย มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ และเป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทไทยที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนไทยเพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง”
บริษัท เมติคูลี่ (Meticuly) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์อัจฉริยะ โดยพัฒนาและใช้ AI ในการออกแบบกระดูกเทียมไททาเนียม เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีสามมิติ ทำให้ผลิตกระดูกเทียมเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังผลิตอุปกรณ์ช่วยลดระยะเวลาผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยมี รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ผู้บริหารสูงสุดและผู้ร่วมก่อตั้ง (CEO & co-founder) พร้อมด้วย ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้ง (CTO & co-founder) ของบริษัท เมติคูลี่ (Meticuly) จำกัด