ภูมิธรรม โชว์ผลสำเร็จมาตรการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ดันราคาพืชหลัก พืชรองขึ้นยกแผง เฉียด 2 แสนล้านบาท โดยรัฐไม่ต้องใช้งบแทรกแซง สร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกร 7.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงความสำเร็จของการขับเคลื่อนมาตรการดูแลพืชรอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนรายใหญ่กว่า 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน ณ ห้องมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ บริษัทเอกชนรายใหญ่ เข้าร่วมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการดูแลสินค้าเกษตร
ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรกว่า 27 ล้านคน หรือ 40% อยู่ในภาคการเกษตร มีปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก 87.7 ล้านตัน ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์ม ยางพารา และพืชรอง 8.24 ล้านตัน ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก รวมปีละกว่า 96 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 1.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9% ของ GDP และไทยสามารถสร้างรายได้จากส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ในปี 2566 กว่า 1.69 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลพืชเกษตร ได้วางแผนการจัดผลผลิต มีปฏิทินสินค้ารู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละช่วง สินค้าอะไรจะออกสู่ตลาด และได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการไว้ล่วงหน้า ไม่รอให้เกิดปัญหา ซึ่งในส่วนของพืชเศรษฐกิจตัวหลัก ได้มีมาตรการบริหารจัดการ และดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวหอมมะลิราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเจ้าราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี ข้าวเหนียวสูงสุดในรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ น้ำยาง ราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ในเกณฑ์สูงที่เฉลี่ย 6 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงสุด 6.40 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 11.2 บาท/กก. มันสำปะหลัง ราคา 2.75-3.15 บาท/กก. และยังได้แก้ช่วยแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ด้วยการจัดหาท่อนพันธ์ทนทานและต้านทานโรค
เมื่อบริหารจัดการพืชเศรษฐกิจตัวหลักได้สำเร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเชิงรุก ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรอง ควบคู่ไปกับพืชหลัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบาย และดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 ท่าน เริ่มจากมีมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด และยังได้มีแผนดูแลพืชเศรษฐกิจตัวรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานพันธมิตร ในแผนงาน “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก” ที่จะร่วมมือกันในการบริหารจัดการพืชรอง ตั้งแต่ช่วงผลผลิตออกจนผลผลิตสู่ตลาด โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยรับซื้อพืชรองต่างๆ ไปจำหน่าย แปรรูป หรือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่แต่ละบริษัทมีงบประมาณในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการช่วยดูดซับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน “เครือข่ายพันธมิตรคนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก“ เป็นการดำเนินการสมดุล
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวเล็ก มีจำนวน 12 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือ 27 หน่วยงาน อาทิ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจปั้มน้ำมัน ได้แก่ ปตท. พีที บางจาก ซัสโก้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มธุรกิจหมู่บ้าน-คอนโด ได้แก่ แสนสิริ แอสเซทไวส์ เสนา ไอริส ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐพันธมิตร อาทิ กรมราชทัณฑ์ โดยมีเป้าหมายช่วยดูดซับเชื่อมโยงผลไม้ พืช 3 หัว ผัก เป้าหมาย 321,579 ตัน แยกเป็นผลไม้กว่า 2 แสนตัน พืช 3 หัว 2 หมื่นตัน ผัก 3 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท
ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของทุเรียน และจะทยอยส่งมอบมังคุด ลำไย ไปจนถึงสิ้น ก.ย.นี้ รวม 33,500 ตัน ไปยังเรือนจำ ธนาคาร ห้าง โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล บริษัทเอกชนรายใหญ่ และมีแผน ส่งมอบต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ทั้งผลไม้ ส้ม ลองกอง พืชผัก พืช 3 หัว หอมแดง กระเทียม หอมใหญ่ ที่จะเริ่มออกมากในช่วงสิ้นปีไปจนถึงต้นปีหน้า
ทั้งนี้ ผลการดำเนินมาตรการดูแลสินค้าเกษตร ทั้งพืชหลัก พืชรอง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของ ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้ พืช 3 หัว เฉลี่ยสูงขึ้นจากปีก่อน 23% ทำให้เกษตรกร กว่า 7.4 ล้านครัวเรือน มีรายได้รวม เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท (196,536 ล้านบาท) จากราคาที่ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อน
“วันนี้เศรษฐกิจฐซบเซา ขาดกำลังซื้อ ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมประชากร 40% เป็นเกษตรกร เราได้ชื่อว่าแหล่งอาหารของโลก ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้าใจเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกร มาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทำงานเชิงรุกร่วมกันทำให้ผู้ผลิตได้ราคาที่ดีขึ้นให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก และขอให้เกษตรกรทำสินค้าที่มีคุณภาพ จากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายที่ประเทศอินเดียที่มีประชากรถึง 1,400 ล้านคน นอกจากที่เราเร่งบุกตลาดจีนที่มีประชากร 1,200 ล้านคนแล้ว“
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เกือบหนึ่งปีของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้เข้ามาบริหาร เราสามารถดึงราคาสินค้าเกษตรขึ้นโดยไม่ต้องจำนำสินค้าเกษตร ไม่ต้องประกันราคาสินค้าเกษตร ทำให้พืชหลักและพืชรองราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของภาคเอกชนทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ขอขอบคุณภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจทุกภาคส่วน เราจะร่วมมือกันตลอดไป เพื่อให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรากฐานของประเทศไทยดีขึ้น
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ข้าราชการทุกคน เป็นภาพรวมของการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวของเราเอง ต้องอาศัยภาคเอกชนและหน่วยงานที่มีส่วนร่วม ทำให้คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็กเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณอีกครั้งในนามของกระทรวงพาณิชย์
สำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรองที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปดูแล มีจำนวน 18 ชนิด แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม
การบริการจัดการพืชรอง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว ผัก
ผลไม้ 6 มาตรการ 25 แผนงาน เป้าหมาย 900,000 ตันพืช 3 หัว 5 มาตรการ เป้าหมาย 59,500 ตันผัก 5 มาตรการ เป้าหมาย 20,300 ตัน
พืชหลัก
ข้าวหอมมะลิ ราคาเฉลี่ย 15,750 บาท/ตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ข้าวเจ้า ราคาเฉลี่ย 11,400 บาท/ตัน สูงสุดในรอบ 20 ปี ข้าวเหนียวเมล็ดยาว ราคาเฉลี่ย 13,900 บาท/ตัน สูงสุดในรอบ 4 ปี ยางแผ่นดิบ ราคาเฉลี่ย 71.17 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 10 ปี น้ำยาง ราคาเฉลี่ย 63.27 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 10 ปี
ผลไม้
ทุเรียนเกรดส่งออก ภาคตะวันออก ราคาเฉลี่ย 181 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 21% ภาคใต้ ราคาเฉลี่ย 152.5 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 27% มังคุด ภาคใต้ เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 81.11 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 11% เงาะโรงเรียน ภาคตะวันออก ราคาเฉลี่ย 36 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 29% ภาคใต้ ราคาเฉลี่ย 42.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 47% ลำไย ช่อAA ราคาเฉลี่ย 40.5 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 25% ลิ้นจี่ฮงฮวย เกรด A ราคาเฉลี่ย 33.25 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 19% มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก ราคาเฉลี่ย 60 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 20% สับปะรดภูแลคละ ราคาเฉลี่ย 12 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 34%
พืช 3 หัว
กระเทียมสด ราคาเฉลี่ย 20 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 11% กระเทียมแห้งคละ ราคาเฉลี่ย 75.55 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 10% หอมแดงสด ราคาเฉลี่ย 15 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 36% หอมแดงแห้ง7-15 วัน ราคาเฉลี่ย 45 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 13% ราคาสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
สำหรับราคาข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้ และพืช 3 หัว ที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนทำให้เกษตรกรกว่า 7.4 ล้านครัวเรือนในประเทศมีรายได้สูงถึง 1,053,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 857,300 ล้านบาท ถึง 196,536 ล้านบาท