ภูมิธรรม บินด่วนกลับไทย นัดถก ครม. พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วม เดินหน้างานต่อ หลังฟัน เศรษฐา หลุดเก้าอี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังรับทราบคำตัดสินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีส่งผลให้ ครม. สิ้นสภาพทั้งคณะว่า ได้พูดคุยกับนายเศรษฐา โดยได้แสดงความเสียใจและเสียดายในความตั้งใจที่จะทำงานของนายกฯ แต่ก็เคารพต่อคำวินิจฉัยของศาล
ขั้นตอนต่อจากนี้ ตนในฐานะรองนายกฯ อันดับหนึ่ง จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยในวันนี้ ได้มีการเปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยทันที หลังเสร็จสิ้นภารกิจการพบหารือกับนายกรัฐมนตรีคาซัคสถาน เป็นภารกิจสุดท้าย โดยพูดคุยถึงความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าร่วมกัน ซึ่งจะเดินทางประเทศไทยในช่วงเช้าวันที่ 15 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องรีบดำเนินทันที 3 ด้าน คือ การประชุม ครม. ประชุมพรรคเพื่อไทย และหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางการทำงาน หลังจากนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การทำงานต่อเนื่องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด อย่างไรก็ตาม ตนก็มีความเป็นห่วงต่อนโยบายที่ค้างอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และการจัดทำงบประมาณ ปี 68 ซึ่งเรื่องนี้ตนก็กังวล ก็จะไปหารือกับพรรค ในรายละเอียดต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับการประชุมกับสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะหารือเกี่ยวการหาแคนดิเดตนายรัฐมนตรีของพรรคที่ตอนนี้มีอยู่ 2 รายชื่อ คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติศิริ โดยขณะนี้พรรคมีบุคคลที่มีศักยภาพพร้อมอยู่สองคน ซึ่งนายชัยเกษมก็รับทราบว่ามีสุขภาพกลับมาแข็งแรงแล้ว ที่ผ่านมาก็เข้ามาปฏิบัติช่วยทำงานกับพรรคมาโดยตลอด
ส่วนการประชุม ครม. ก็จะวางแนวทางการทำงาน และเดินหน้าทำงานต่อไป ซึ่งในสัปดาห์หน้าก็จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่พระนครศรีอยุธยา โดยอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งจะทำภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมีการหารือสานต่อถึงนโยบายที่จะทำร่วมกันต่อไป
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกลเกินขนาดนี้ ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไปก่อน และจะนานแค่ไหน ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับประชุมรัฐสภา
ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กับนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะทุกอย่างต้องรอมติของกรรมการบริหารพรรค จากนี้ไปก็เป็นการบริหารจัดการร่วมกันของพรรค ซึ่งจะต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่นายกฯ คนใหม่ ก็ต้องให้สภาเป็นคนตัดสินใจ เพราะเป็นกลไกตามกฎหมาย