‘โชติพัฒน์ - ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ เปิดคัมภีร์การเงิน วางแผนรับมือท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา ในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 หัวข้อ THAILAND : FUTURE AND BEYOND... ก้าวต่อไปของประเทศไทย
นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยในงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 หัวข้อ THAILAND : FUTURE AND BEYOND… ก้าวต่อไปของประเทศไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ โดยได้แนะนำคัมภีร์ประชาชนว่าควรจะวางแผนการเงินอย่างไรท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน และความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ รอบด้าน เช่น สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ปัญหาหนี้เสียโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน
นอกจากนี้ การขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพีภายในประเทศขยายตัวอยู่ในระดับต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ การส่งออกหดตัว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคประชาชนจึงควรตระหนักถึงความจำเป็นในการบริหารการเงินของตนเองให้เหมาะสมและรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น
-กลุ่ม YOLO คือ คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียว จงใช้ชีวิตให้คุ้ม ผู้มีแนวคิดแบบนี้ ส่วนใหญ่มีนิสัยทางการเงินแบบเต็มที่กับปัจจุบัน จะซื้อประสบการณ์และสิ่งของเพื่อความสุขของตนเอง ใช้สินค้าราคาแพงอย่างสินค้าแบรนด์เนม หรือรถหรู โดยคำนึงถึงเงินในกระเป๋าน้อยกว่าคนยุคก่อน
-กลุ่ม DINK คือ คู่รักที่ทำงานทั้งคู่ มีรายได้สองทาง ฐานะดี แต่ไม่มีลูก
-กลุ่ม SINK คือ กลุ่มนี้อยากจะใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ อยากเที่ยวหรือกินอะไรก็ทำได้ตามที่ใจต้องการ รวมทั้งการเก็บออมและลงทุนไว้ยามเกษียณ กล่าวคือ มีแนวคิดแบบ Die with Zero หรือจะใช้เงินของตนเองให้คุ้มก่อนเสียชีวิต ซึ่งพฤติกรรมของแต่ละคนเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดสถานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง เพื่อวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-กลุ่ม PANK/PUNK คือ ลุงป้าน้าอามืออาชีพ เลี้ยงดูหลาน
-กลุ่ม WOOF คือ สูงวัยแบบมีคุณภาพ
-กลุ่ม FIRE คนรุ่นใหม่ที่เร่งเก็บเงิน สู่การมีอิสรภาพทางการเงินให้ไวที่สุด
-กลุ่ม HENRY คือ คนที่มีรายได้สูง แต่กลับยังไม่รวย
การออมเงินและการลงทุนในสินทรัพย์ ถือเป็นการวางแผนการเงินที่ดี นอกจากการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มเงินเก็บด้วยการใช้จ่ายตามกำลัง และการหารายได้เพิ่มแล้ว ประชาชนควรวางแผนการลงทุนแบบระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเงินด้วยคัมภีร์การเงินในภาวะเศรษฐกิจซบเซา คือ
1.การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น ทองคำ ที่ดิน ประกันออมทรัพย์
2.การลงทุนในผลิตภัณฑ์ประกัน สุขภาพและการเกษียณ เช่น ประกันบำนาญ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น
3.การเช่ารถยนต์ หรือซื้อรถยนต์มือ 2 แทนการซื้อรถยนต์มือ 1 หากนำมาปรับใช้ในการวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำธุรกิจ จะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่มั่นคง และมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดีได้