สศท. เตรียมจัด 'อัตลักษณ์แห่งสยาม' ครั้งที่ 15 ส่งต่อภูมิปัญญาไทยให้ทายาท
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (สศท.) เปิดเผยว่า สศท.ได้เตรียมจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” มหกรรมจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้นบรมครู และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ศิลปหัตถกรรมไทยทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเสริมสร้างอาชีพให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังช่วยสืบสานงานศิลปหัตกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย รักษาภูมิปัญญาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีอัตลักษณ์ ที่สะท้อนความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานไม่ให้สูญหาย และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาท ช่างศิลปหัตถกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดิน รวมทั้งปลุกตำนาน และฟื้นคืนชีวิต ภูมิปัญญาคุณค่างานหัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครูให้กับคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนภูมิปัญญามรดกศิลป์มรดกชาติ สู่การเป็น Craft Power สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ในวันที่ 18-22 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง,พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการวางรากฐานสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมบนผืนแผ่นดิน ส่งเสริมอาชีพด้วยภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิด “คือพระหัตถ์สร้างงาน รากฐานงานหัตถศิลป์ไทย” รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวมไปถึงส่วนสาธิต อาทิ ทอผ้าจก,จักสานย่านลิเภา,จักสานไม้ไผ่ลายขิด ฯลฯ โดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
นิทรรศการส่วนไฮไลต์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ผลงานหัตถศิลป์ล้ำค่าของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ล่วงลับกว่า 50 ผลงาน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย เนื่องจากเหลือช่างทำน้อยราย ที่นับวันจะลดลง อนาคตอาจเหลือเพียงตำนาน อาทิ ขันลงหิน-บ้านบุ ครูเมตตา เสลานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552,มีดเหล็กลาย ครูพชร พงศกรรังศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559,หัตถกรรมทองเหลืองสาน ครูวนิตย์ ธรรมประทีป ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 เป็นต้น
รวมถึงสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นงานหัตถกรรม โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ เครื่องประดับมุกโบราณ,งานต้องลายปานซอย (งานฉลุลายโลหะแบบศิลปะไทใหญ่),ลายรดน้ำ,เครื่องเขิน,พวงมะโหตร,แกะสลักไม้,ว่าวเบอร์ฮามัส ฯลฯ และนิทรรศการ “ตำนานบทใหม่ของช่างฝีมือคนไทย” เชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2567