รู้คำตอบแล้ว! ใครคือประธานแบงก์ชาติคนใหม่ หลัง "ดร.วิรไท" อดีตผู้ว่าการ ธปท. ถาม ChatGPT ได้คำตอบแบบนี้
กรณีที่คณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลื่อนพิจารณาคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ จากวันที่ 4 พ.ย. เป็นวันที่ 11 พ.ย. นี้ โดยให้เหตุผลว่ามีข้อมูลให้พิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะมีกระแสร้อนแรงรุมคัดค้าน หวั่นการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะชื่อตัวเต็งคือนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง
ก่อนหน้านั้น ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Veerathai Santiprabhob” ระบุถึงการเลือกตัวประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า วันนี้ (3 พ.ย.) ไปเรียนหลักสูตร Generative AI Mastery for Executives เลยลองถามพี่ ChatGPT ผู้เป็นพหูสูตแห่งยุคสมัย ว่าใครควรจะเป็นประธานแบงก์ชาติคนต่อไป
“พี่ ChatGPT ตอบมาให้ตามด้านล่างนี้ครับ ถ้าคณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการแบงค์ชาติ ไม่แน่ใจว่าจะลงคะแนนเสียงเลือกใครดี ลองปรึกษาพี่ ChatGPT ดูก็ได้นะครับ”
“วิรไท” ลองถาม ChatGPT ใครควรจะเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คนต่อไป
คำตอบ ChatGPT ที่ได้ คือ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการธนาคารเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ควรมีคุณสมบัติที่สำคัญดังต่อไปนี้:
1.ความเป็นกลางทางการเมือง: ผู้ดำรงตำแหน่งควรมีความเป็นกลางและไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำจากการเมือง เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม และไม่ตอบสบสนองต่อแรงกดดันทางการเมือง
2.มีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์: ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่และมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก การเงินดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
3.ความน่าเชื่อถือและโปร่งใส: บุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและประวัติการทำงานที่โปร่งใส จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในธนาคารกลางและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
4.ความสามารถในการสื่อสาร: เนื่องจากบทบาทของประธานคณะกรรมการ ธปท. ต้องสื่อสารกับสาธารณชนและนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรเป็นผู้ที่สามารถอธิบายนโยบายได้อย่างชัดเจนและมีความเข้าใจในกลไกการทำงานของตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ผู้ที่มีคุณสมบัติข้างต้นจะเป็นผู้นำที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง และจะสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับธนาคารกลาง รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยในระยะยาว