‘พฤกษา’ ผนึกพันธมิตร ระดมทุนเพิ่ม 3,250 ล้านบาท

‘พฤกษา’ ผนึกพันธมิตร ระดมทุนเพิ่ม 3,250 ล้านบาท ดึง มิตซุยฯ เสริมแกร่งกองทุน ‘CapitaLand SEA Logistics Fund’

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ พฤกษา โฮลดิ้ง ได้จับมือกับ แคปปิตอลแลนด์ อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป (CapitaLand Investment Group หรือ CLI) ยักษ์ใหญ่กลุ่มธุรกิจจัดการการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ระดับโกลบอลสัญชาติสิงคโปร์ และ แอลลี่ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ (Ally Logistic Property หรือ ALP) ผู้ให้บริการโซลูชันคลังสินค้าแบบครบวงจรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไต้หวัน

เพื่อจัดตั้งกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund ที่มุ่งลงทุนและพัฒนาทรัพย์สินด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในอาเซียน และเป็นการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการ Infrastructure as a service ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง ในการยกระดับสำหรับนักลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเงินกองทุนเริ่มต้นราว 6,750 ล้านบาท และมีทางเลือกเพิ่มการลงทุนได้สูงสุดราว 13,500 ล้านบาท และตั้งเป้ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการกว่า 25,000 ล้านบาท

โดยในเดือนเมษายนปีนี้ CapitaLand SEA Logistics Fund ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการ โอเมก้า บางนา โลจิสติกส์ แคมปัส คลังสินค้าครบวงจรด้วยเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยและบริการโซลูชันแบบองค์รวม มูลค่ารวม 8,430 ล้านบาท พื้นที่คลังสินค้ากว่า 200,000 ตารางเมตร ย่านบางนา จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับดีมานด์ลูกค้าไทยและต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นเมกะโปรเจกต์แห่งแรกหลังการจัดตั้งกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund

ล่าสุด กองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund ได้ขยายความร่วมมือดึง บริษัท มิตซุย โอเอสเค ไลน์ส (MOL) บริษัทขนส่งรายใหญ่ในญี่ปุ่น เข้าร่วมทุนกว่า 3,250 ล้านบาท สัดส่วนอยู่ที่ 32.5% และหลังการร่วมทุนในครั้งนี้ แคปปิตอลแลนด์ ถือกองทุน 33.75% พฤกษา โฮลดิ้ง 27% และแอลลี่ โลจิสติกส์ 6.75% ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กองทุนมีศักยภาพและความร่วมมือในการเชื่อมต่อการขนส่ง การให้บริการและการขยายฐานลูกค้าที่ทาง MOL มีอยู่ เงินทุนเพิ่มนี้จะใช้ในการพัฒนาโครงการ สร้างเครือข่าย โอเมก้า โดยจะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับบริการด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน ทั้งนี้ คาดว่าการก่อสร้างแห่งแรกที่บางนาเฟสแรกจะแล้วเสร็จต้นปี 2569

“การขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะช่วยเสริมกลยุทธ์ของพฤกษา โฮลดิ้ง ให้มีศักยภาพและเติบโตขึ้น โดยจะมีรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบัน อสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์ นับว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมการซื้อขายทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากโอเมก้า บางนา โลจิสติกส์ แคมปัส แล้ว พันธมิตรของ CapitaLand SEA Logistics Fund ทั้ง 4 ฝ่าย จะยังคงเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพิ่ม ทั้งในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค” นายอุเทน กล่าว

สำหรับโครงการโอเมก้า บางนา โลจิสติกส์ แคมปัส ออกแบบโดย Ally Logistic Property หนึ่งในพันธมิตรของกองทุน CapitaLand SEA Logistics Fund โดยโครงการนี้ นับเป็นคลังสินค้าอัตโนมัติขนาดใหญ่ที่รวมระบบคลังสินค้าไว้ที่ศูนย์กลาง ประกอบด้วยคลังสินค้าทั่วไป 2 แห่ง และคลังสินค้าแช่เย็นและแช่แข็ง 1 แห่ง ภายในโครงการแบ่งเป็นพื้นที่จัดการสำหรับคลังสินค้าและการจัดส่ง และพื้นที่ไร้คนขับอย่างสมบูรณ์สำหรับการจัดเก็บพาเลท และแท่นบรรทุกสินค้าที่ใช้สำหรับขนส่งและจัดเก็บสินค้า

นอกจากนี้ โอเมก้า บางนา โลจิสติกส์ แคมปัส ยังมีโครงสร้างอาคารแบบเพดานโค้ง เพื่อให้การใช้พื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถจัดการสินค้าของลูกค้าหลายรายได้พร้อมกัน ทำให้สามารถขยายและทำสัญญาพื้นที่จัดเก็บและคิดค่าบริการในหน่วยพาเลทตามอุปสงค์และอุปทานสินค้าจริงของลูกค้าแต่ละราย และคลังสินค้าแห่งนี้ ยังมีอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติที่ทันสมัย เช่น เครนไฟฟ้า ชั้นวางควบคุมอัตโนมัติ และรถนำทางอัตโนมัติ เป็นต้น

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap