ส.อ.ท. ชงรัฐเร่งจัดซื้อรถหลวง-ออกมาตรการภาษี กระตุ้นยอดขายรถในประเทศพ้นปากเหว พร้อมจี้ตั้งกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี วอนแบงก์ผ่อนเกณฑ์เข้ม ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้จริง ห่วงนโยบายทรัมป์กระทบส่งออก ด้านดัชนีเชื่อมั่นเริ่มฟื้น หลังน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ได้เงินหมื่น
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ เปิดเผยว่า ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. จากผู้ประกอบการ 1,365 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ต้องการให้ออกมาตรการทางภาษี และการเงิน เพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ภายในประเทศ และขอให้รัฐเร่งจัดซื้อ ในหมวดพาหนะ ปี 68 เนื่องจากยอดขายในประเทศ ยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินปฏิสธการให้สินเชื่อรถยนต์สูงมาก รวมทั้งเสนอให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ผ่อนปรนเรื่องการขาดทุนปีล่าสุด ให้พิจารณากำไรจากการดำเนินงานในรูปของเงินสด (อีบิด้า) ของบริษัทปีล่าสุด
นอกจากนี้ เสนอให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายเสนอให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าราคาถูกที่ไม่ได้คุณภาพ
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 89.1 เพิ่มขึ้นจาก 87.1 ในเดือน ก.ย. 67 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐเร่งฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง ทำให้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมีดีขึ้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% ภายหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% สู่ระดับ 2.25% ทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลดลง
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เริ่มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในช่วง 10 เดือน (1 ม.ค.-27 ต.ค. 67) จำนวน 28,378,473 คน สร้างรายได้ประมาณ 1.32 ล้านล้านบาท ภาคการส่งออกก็ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและจากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยการส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% รวมถึงอัตราค่าระวางเรือ ขนส่งสินค้า ปรับตัวลดลงในเส้นทางสำคัญ ทำต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการลดลง
“ผลสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือน ก.ย. 67 และยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก”
อย่างไรก็ตาม ในเดือน ต.ค. ยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้น 13.3% จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท สถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมไปถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก