"พิชัย" ถก "รมต.การค้าเกาหลีใต้" ที่เปรู ขอให้เกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานสูงของไทย มั่นใจตัวเลขลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค EV-PCB เพิ่มสูงขึ้น พร้อมเร่งสรุปผลเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้ ภายในปีหน้า
ที่ กรุงลิมา ประเทศเปรู นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับนายชอง อิน-กโย รัฐมนตรีการค้า กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ ก่อนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย. 67 ณ กรุงลิมา ว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าไทยและเกาหลีใต้ควรยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลีใต้ (Economic Partnership Agreement: EPA) ให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในปี 68 และมั่นใจว่าจะสามารถลงนามความตกลงได้ในงาน APEC ครั้งหน้า ซึ่งเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ปี 2025
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจากความตกลงที่ไทยกับเกาหลีใต้เป็นภาคีร่วมกันอยู่แล้ว ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมทั้งช่วยเพิ่มความร่วมมือในเรื่องใหม่ ๆ ระหว่างกัน เช่น การค้าดิจิทัล และห่วงโซ่การผลิต เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ไทยได้ขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ สินค้ากลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง มังคุด และสับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป และถือโอกาสเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเทคโนโลยีสมัยใหม่ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง เพื่อขยายการค้าการลงทุนสองฝ่ายให้เพิ่มมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ PCB การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
“ได้มีการพูดคุยกันเยอะ เกาหลีมีเทคโนโลยีค่อนข้างสูงหลายเรื่อง เราได้พูดถึงฮุนไดที่มาลงทุนในไทยเชื่อว่ายังมีการลงทุนจากฮุนไดหลายเรื่อง ทางฮุนไดมีการทำโดรน ซึ่งปัจจุบันซื้อบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ Boston Dynamics เพิ่งออกหุ่นยนต์ใหม่ชื่อ Atlas เราอยากตามเทคโนโลยีพวกนี้ให้ทัน ไทยก็เป็นศูนย์กลางในการชวนให้เกาหลีมาลงทุนซึ่งเกาหลีก็อยากมาลงทุนในไทย ตอนนี้ไทยเนื้อหอมมาลงทุนที่ไทยสามารถส่งขายอเมริกา จีน อินเดียได้ เกาหลีก็อยากเห็นการลงทุนของเขาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย”
นอกจากนี้ ไทยได้หารือกับเกาหลีใต้ ถึงการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐมนตรีที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นเวทีหารือระดับนโยบายในการแสวงหาแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้า การลงทุน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ในช่วงต้นปี 68 อย่างไรก็ดีไทยยังสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ของเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในปี 2568
ในปี 66 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 11,478 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 4,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 6,921 ล้านดอลลาร์สหรัฐ