พาณิชย์ ประเดิมถก 10 หน่วยงาน ปราบนอมินี ลุยแก้กฎหมาย ตัดไฟต้นทาง พร้อมขึ้นบัญชี 3 กลุ่มธุรกิจ โกดัง แพลตฟอร์ม ขนส่ง เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว ครั้งแรก ร่วมกับ 10 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหานอมินีในประเทศไทยให้หมดไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายทบทวนกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัย ปิดช่องว่างที่ผู้กระทำผิดนำมาใช้ และช่วยทำให้การจับกุมเข้าถึงตัวผู้กระทำผิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะลดปัญหานอมินีในประเทศไทย ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังกำหนดแผนระยะสั้น เห็นผลภายใน 1-3 เดือน เป็นการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างแต่ละหน่วยงาน สำหรับสร้างฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อใช้ในการสืบสวน สอบสวน ตรวจสอบหาธุรกิจที่กระทำผิดและเข้าข่ายนอมินี รวมทั้งสร้างการรับรู้แก่ภาคประชาชนว่าภาครัฐให้ความสำคัญพร้อมร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหานอมินี ส่วนระยะกลาง ตั้งเป้าหมายภายใน 3-12 เดือน จะพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยติดตามวิเคราะห์ และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนอมินีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
นายนภินทร กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งตรวจสอบนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยง อย่าง ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้เช่าโกดังสินค้า และโลจิสติกส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบธุรกิจตามแผนปฏิบัติการ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดทั้งก่อนและหลังรับจดทะเบียนธุรกิจในนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นนอมินี อาทิ การตรวจสอบหลักฐานทางการเงินของผู้ลงทุนคนไทย ที่ลงทุนเองหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว ว่ามีศักยภาพในการลงทุนได้จริง และจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงประจำปี
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมการจัดหางาน กรมการท่องเที่ยว กรมที่ดิน และกรมสรรพากร ซึ่งทั้งหมดมีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลการตรวจสอบ ดำเนินการสืบสวน สอบสวนหรือตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินี
“ปัญหาธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว หรือนอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง และมีความท้าทายในการทำงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงจำเป็นจะต้องจับมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสุดความสามารถ ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนเองเพื่อให้เกิดความสำเร็จทั้งองค์รวม”