‘จุลพันธ์’ ร่วมถก ADB หนุนสินเชื่อเพื่อภาคการเกษตรสีเขียว และ SMEs ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เผย ADB เตรียมจัดสรรเงินช่วยเหลือทางวิชาการแก่ ธ.ก.ส. 1.5 ล้านดอลลาร์ พร้อมดำเนินการภายในสิ้นปีนี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมหารือกับนายอานุช เมธา (Mr. Anouj Mehta) ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ประจำประเทศไทยและคณะ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจสีเขียวและการสนับสนุนทางการเงินสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อันเป็นผลสืบเนื่องจากการหารือทวิภาคีระหว่างท่านนายกรัฐมนตรี กับนายมาซาสึกุ อะซาคาวา (Mr. Masatsugu Asakawa) ประธาน ADB เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567 ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 (The 8th GMS Summit)
นายจุลพันธ์เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธ.ก.ส. ให้ความสนใจกับการสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจการเกษตรสีเขียว เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น ซึ่งทาง ADB อยู่ระหว่างการจัดสรรเงินช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนธันวาคม 2567
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวเสริมว่า ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้มีการทำงานร่วมกับ ADB ในการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065
นอกจากนี้ ทาง ADB ยังมีแผนจะผสานการสนับสนุนจากกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งจะเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ โดยการสนับสนุนนี้ จะเป็นการผสมผสานเงินกู้จาก ADB และกองทุนอื่นๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยและเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ยังได้หารือในส่วนของการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการด้านสุขภาพ โดย ADB มีแผนสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 5 แห่ง ซึ่งขณะนี้ กระบวนการตรวจสอบและประเมินข้อมูลนั้นเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังมีการปรับการประมาณการต้นทุนใหม่ ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ขณะที่โครงการด้านการบริหารจัดการน้ำท่วมซึ่งถือเป็นอีกโครงการสำคัญเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง คาดว่าจะสามารถดำเนินการขออนุมัติโครงการนี้ได้ภายในช่วงเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคมปี 2568