THG พบรายการ ‘ต้องสงสัย’ เพิ่มอีก 63 ล้านบาท

THG พบรายการ ‘ต้องสงสัย’ ที่เกิดในปี 66 เพิ่มอีก 63 ล้าน ด้านบอร์ดบริษัทมีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงิน

รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG แจ้งกับ ตลท. ว่า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัย และแนวทางแก้ไข ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2567 ขอรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้

1. ความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัย

ตามที่บริษัทได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 105,000,000 บาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) โดยกลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ RTD ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จากรายการอันควรสงสัย ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับบริษัทเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 112,798,907 บาท (รวมดอกเบี้ย ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้)

บริษัทจะใช้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องให้ RTD ชำระเงินให้แก่บริษัทโดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับ RTD ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และกับอดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการทำรายการอันควรสงสัย ทั้งนี้เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น

2. การตรวจพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติม

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้นโดยไม่ชักช้า เมื่อบริษัทตรวจพบรายการอันควรสงสัย เพื่อรักษาความโปร่งใสและยึดมั่นในมาตรฐานที่ดีด้านธรรมาภิบาล ดังนั้นบริษัทขอเรียนให้ทราบว่าจากการตรวจสอบเพิ่มเติม บริษัทพบรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมของบริษัทและบริษัทย่อย

ซึ่งรายการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2566 รายการอันควรสงสัยดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่บริษัทและบริษัทย่อย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือความสามารถในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมของบริษัทและบริษัทย่อยสำคัญในช่วงปี 2566-2567 ที่ผ่านมาอย่างรอบคอบ และมีความเห็นว่านอกเหนือจากรายการอันควรสงสัยตามข้อ 1. และข้อ 2. แล้ว ไม่มีรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ ของบริษัทและบริษัทย่อยที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย หรือพิจารณา เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้น บริษัทจะดำเนินการแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และดำเนินการทางกฎหมายต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดรายการอันควรสงสัยดังกล่าว เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น

3. การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ในงบการเงิน

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทและบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมด (กล่าวคือรายการตามข้อ 1. และข้อ 2. ข้างต้น) นั้น บริษัทได้บันทึกบัญชีโดยตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนในงบการเงินรวมสำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 แล้ว เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 172 ล้านบาท ทั้งนี้ การตั้งสำรองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้งบการเงินรวมของบริษัทสะท้อนถึงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

4. มาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติม

ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทและบริษัทย่อยจากรายการอันควรสงสัยทั้งหมดนั้น มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในอดีตทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดรัดกุมในการอนุมัติรายการ รวมถึงรายการที่เกี่ยวโยงกัน และเพิ่มการตรวจสอบภายในให้ครอบคลุมมากขึ้น และให้มีการรายงานจากบริษัทย่อยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของบริษัทและบริษัทย่อย และป้องกันไม่ให้เกิดรายการอันควรสงสัยเพิ่มเติมในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุดต่ออดีตผู้บริหารและพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับรายการดังกล่าว เพื่อแสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนของบริษัทในการไม่ยอมรับพฤติกรรมหรือการปฏิบัติใด ๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และ/หรือระเบียบภายในที่บริษัทกำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย

ทั้งนี้ บริษัทยังจะดำเนินการทางกฎหมายกับอดีตผู้บริหารและพนักงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทและบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น

5. สภาพคล่องของบริษัท

รายการอันควรสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท แต่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียต่อกลุ่มบริษัท อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผลประกอบการจากการดำเนินงานตามปกติ (ไม่รวมการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักความระมัดระวังและสอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป) กลุ่มบริษัทยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามปกติ และไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานตามปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และเพื่อแก้ไขข้อกังวลที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้มีการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ซึ่งแนวทางการปรับโครงสร้างทางการเงินที่กำลังพิจารณา รวมถึงการพิจารณาเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทเพื่อเสริมสร้างฐานะทางการเงินและรองรับการดำเนินงานในอนาคต และการพิจารณาจัดการหรือจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่ได้ใช้ในการประกอบธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการแจ้งให้ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของแนวทางการดำเนินการดังกล่าวในโอกาสต่อไป

สุดท้ายนี้ บริษัทขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส และพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap