ย้ำรอบที่ล้าน! กกร.ค้านขึ้นค่าแรง จ่อยื่นหนังสือแจงสารพัดข้อเสีย วอนอย่าซ้ำเติมเอกชน

กกร.ยื่นหนังสือถึงภาครัฐอีกรอบ 6 ธ.ค.นี้ ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ย้ำเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว ขอให้ผ่านไตรภาคีเช่นเดิม 11 ธ.ค. จ่อหารือคลัง-แบงก์ชาติ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ประเมินน้ำท่วมเหนือ-อีสาน–ใต้ ทุบเศรษฐกิจ 8.5 หมื่นล้าน จีดีพีหด 0.6% จี้เร่งเบิกงบรัฐ รับปี 68 ยังเหนื่อยต่อแน่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันมีข้อกังวลการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดย กกร.เห็นว่าเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว และแต่ละจังหวัดมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรประเมินตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัดที่มีไตรภาคีพิจารณาเชิงลึกอยู่แล้ว ส่วน กกร.ได้ศึกษาสำรวจทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบเพื่อประกอบการพิจารณาของภาครัฐและไตรภาคี

ทั้งนี้ กกร.จะจัดทำเอกสารเกี่ยวโยงข้อมูล ข้อแนะนำส่งให้สำนักนายกฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อขอชะลอการปรับขึ้นค่าแรงต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาดูความเหมาะสมในเรื่องนี้

นอกจากนี้ กกร.จะหารือกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 11 ธันวาคม 2567 เพื่อหามาตรการช่วยเหลือหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้บ้าน รถและ SME เพื่อให้สามารถอยู่ได้ หลังจากนั้นภาครัฐต้องมีมาตรการระยะต่อไป เพราะต้นตอของหนี้ คือรายได้ โดยพิจารณาว่าจะเพิ่มรายได้ขึ้นอย่างไรหรือ Up-skill แรงงาน สร้างความสามารถการแข่งขันของ SME ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมาตรการอื่นๆ ตามมา

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมปฏิรูปโครงสร้างภาษี อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เพิ่มเป็น 15-20% นายสนั่น กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากเห็นภาครัฐและภาคสังคมทำงานร่วมกัน พวกที่อยู่นอกระบบอยากให้เข้าสู่ระบบเสียภาษีถูกต้อง ทุกวันนี้คนจ่ายภาษีมีไม่กี่ล้านคนแต่ต้องดูแลคนทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐต้องจริงจังและหาช่องทางดึงคนที่เลี่ยงการจ่ายภาษีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ถ้ารัฐทำได้รัฐมีเงินเยียวยาตรงจุดมากขึ้น

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และหากรวมความเสียหายของน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ล่าสุด คาดว่า จะมีความเสียหายประมาณ 80,000-85,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี

“สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน เบื้องต้น พบว่าหากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว น่าจะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.03-0.06% ของจีดีพี  โดยพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงย่านการค้าสำคัญของ จ.สงขลา”

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัว 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด โดยคาดว่า ทั้งปีจะขยายตัวได้ 4%,มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่ปี 68 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่กำลังจะทยอยออกมา เช่น การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตามช่วงครึ่งปีหลังของปี 68 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลหาเงิน 1-2 แสนล้านบาทเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี ในการเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรใหม่ โดยให้เอสเอ็มอี กู้ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี ถ้าไม่เปลี่ยนเครื่องจักร เอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ทั้งเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย และเอสเอ็มอีไทยต้องได้รับสิทธิประโยชน์บีโอไอด้วย

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap