ส่องเงินเฟ้อของไทย อยู่อันดับที่เท่าไรในภูมิภาค

กระทรวงพาณิชย์ เผยอัตราเงินเฟ้อไทย ยังโตต่ำเป็นอันดับ 19 ของโลก และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน

เมื่อวานนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้เผยข้อมูล ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ1.23 โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.95 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 19 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข โดยมีอันดับ ดังนี้

ลาว เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 18.32%เวียดนาม เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.77%ฟิลิปปินส์ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.5%มาเลเซีย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.8%สิงคโปร์ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.6%อินโดนีเซีย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.55%ไทย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.95%บรูไน เงินเฟ้อลดลง 0.5%

สำหรับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.28

จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลไม้สด (เงาะ มะม่วง กล้วยน้ำว้า ทุเรียน แตงโม สับปะรด กล้วยหอม) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า) และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (ปลานิล กุ้งขาว ปลาทูนึ่ง ปลาทับทิม) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (พริกสด มะเขือเทศ มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี) ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่ย่าง นมเปรี้ยว น้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (Delivery) เป็นต้น

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.21

จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน และค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาซักแห้ง น้ำยาล้างห้องน้ำ) และเสื้อผ้า (เสื้อยืดบุรุษและสตรี เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี กางเกงขายาวบุรุษและสตรี) เป็นต้น

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap