ครม.ไฟเขียว SME D BANK ปล่อยซอฟต์โลน 2 หมื่นล้าน ดอก 3% ช่วยเอสเอ็มอี

ครม. ไฟเขียว เอสเอ็มอี แบงก์ อัดซอฟต์โลน 2 หมื่นล้าน ดอกเบี้ย 3% ปล่อยกู้ ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี รายย่อย

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2 โครงการ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี ดี แบงก์) ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อปลุกพลังเอสเอ็มอี และ2.โครงการสินเชื่อ บียอนด์ ติดปีก เอสเอ็มอี

ทั้งนี้ มีรายละเอียดประกอบด้วย โครงการสินเชื่อ ปลุกพลัง เอสเอ็มอี วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับเอสเอ็มอี รายย่อยและมีความเปราะบางที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 อัตรา 3% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธ.ค. 68

ส่วนโครงการสินเชื่อ บียอนด์ ติดปีก เอสเอ็มอี วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับ เอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 อัตรา 3% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

“ทั้ง 2 โครงการ จะช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีในทุกภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนของเอสเอ็มอี รายย่อยและมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจทันที ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มีความต้องการเข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินพาณิชย์ เนื่องจากยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงเร่งใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มเติม”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap