‘พิชัย’ หารือทูตอินเดีย-ตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าเพื่อลดอุปสรรค

“พิชัย” หารือทูตอินเดีย เตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระหว่างรัฐมนตรีการค้าสองประเทศ เพื่อเร่งลดอุปสรรคการค้า-ขยายการลงทุน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้พบหารือกับนายนาเกช ซิงค์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ถึงแนวทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเห็นพ้องที่จะร่วมกันลดอุปสรรคการค้าเพื่อความคล่องตัวในการค้าขายระหว่างกัน

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่าอินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยร้อยละ 7-8 และที่ผ่านมาพบว่ามีการค้าการลงทุนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจีน จึงอยากให้มีการยกระดับการเจรจาในรูปแบบ JTC หรือ คณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างกัน โดยเอกอัครราชทูตอินเดียจะไปเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะยังมีข้อตกลงเล็กน้อย ระหว่างไทยกับอินเดียที่ยังตกลงกันไม่ได้ คาดว่าจะมีการเจรจากันได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ก่อนที่นายนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีของอินเดีย จะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงกลางปี 68 อยากให้ไทยเป็นจุดเชื่อมให้อินเดียในการเปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคอาเซียนและจีนได้

โดยไทยได้ขอให้อินเดียเร่งรัดกระบวนการออกใบรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก ไม้พาทิเคิลบอร์ด ไม้เอ็มดีเอฟ และเส้นใยเรยอน ลดข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตนำเข้ายางล้อและโทรทัศน์สี

นอกจากนี้ ได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนและร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้การเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย สรุปผลอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 68 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งเสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาสานต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย–อินเดีย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวตามศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยและอินเดีย สอดรับกับนโยบายรัฐบาลไทยที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) กับอินเดีย ทั้งยังได้เชิญชวนนักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะการจัดตั้ง Data Center

นายพิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นควรที่จะจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระหว่างรัฐมนตรีการค้าสองฝ่าย เพื่อหารือเชิงนโยบายครอบคลุมเศรษฐกิจการค้าในหลายมิติ ทั้งการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เนื่องจากการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดียมีมูลค่าการค้าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีกลไกความตกลงการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งการขับเคลื่อนและผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับนโยบายจะเอื้ออำนวยประโยชน์และเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ไทยและอินเดียยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าขั้นกลาง อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งทอ และไม้แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพที่มีความเกื้อกูลกันของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เสมือนเป็นฐานการผลิตเดียวกันในภูมิภาค นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าทั้งในไทยและอินเดีย เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้า ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันสองฝ่ายเห็นควรเร่งสนับสนุนระบบชำระเงินข้ามแดนระหว่างพร้อมเพย์ของไทยและ UPI ของอินเดีย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายของผู้บริโภค เป็นเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ

โดยอินเดียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยช่วง 11 เดือนของปี 67 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมมีมูลค่า 15,797.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.06 แบ่งเป็นการส่งออกไปอินเดียมูลค่า 10,497.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และการนำเข้าจากอินเดียมีมูลค่า 5,299.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 5,197.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap