สค.กางแผนกิจกรรมปี 68 รุกหนักต่างประเทศ ปั้มรายได้ส่งออกเพิ่มเฉียดแสนล้าน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กางแผนกิจกรรมส่งออก ปี 68 ปั้มรายได้เข้าประเทศเพิ่มเฉียดแสนล้าน เร่งดันโกอินเตอร์ ปรับไทยซีเล็คท์ เทียบมิชิลิน พร้อมปั้นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ลุยส่งออก

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกปี 68ว่ากรมฯ ตั้งเป้าหมายเร่งผลักดันการส่งออกปีนี้ให้โตไม่ต่ำกว่า 2-3% วางเป้าหมายสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มเติมอีกกว่า 92,363 ล้านบาท ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ 261,804 ราย โดยแนวทางการทำงานเน้นร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมกับโฟกัสไปยังสินค้าอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต อาทิ สินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ธุรกิจบริการมูลค่าสูง พร้อมกับมุ่งเน้นรักษาตลาดเดิม ควบคู่กับเปิดตลาดใหม่ และผลักดันซอฟท์ พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

“ภาพรวมของแผนปีนี้ จะเน้นการทำงานเชิงลึก และกว้างมากขึ้น อาทิ ด้านการตลาดกิจกรรมที่มีอยู่ จะขยายสเกลให้ใหญ่กว่าเดิม ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น งานบางกอก เจมส์ฯ จะโฟกัสให้ไทยเป็นฮับพลอยสี ขณะที่โครงการไทย ซีเล็กท์ ก็จะมีการปรับปรุงแบรนด์ให้ทันสมัย พร้อมกับนำระบบดาว มาการันตียกระดับร้านค้าเทียบกับมิชิลีน สตาร์ ขณะที่การทำงานของทูตพาณิชย์ 58 แห่ง จะให้ติดตามมาตรการทางการค้าใหม่ที่อาจกระทบต่อสินค้าไทย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีท่วงที รวมถึงเร่งหาผู้ค้าใหม่เข้ามาเป็นตัวชี้วัดในการทำงาน”

สำหรับรายละเอียดของแผนด้านพัฒนาช่องทางการตลาด กิจกรรมในประเทศ ได้แก่ โครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูปและผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆเพื่อรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเชิญผู้นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเจรจาธุรกิจการผู้ส่งออกไทย การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ 10 งาน อาทิ บางกอกเจมส์ และเจเวลรี งานไทยเฟ็กซ์

น.ส.สุนันทากล่าวว่า กิจกรรมต่างประเทศ จะจัดคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ นำโดย รมว. พาณิชย์เดินทางเยือนต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนไทย อาทิ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ คานส์ ฝรั่งเศส การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างประเทศ และตลาดใหม่ รวม 31 งานทั่วโลก การจัดงานแสดงสินค้าไทยในเมืองหลักและเมืองรองของ อาเซียน เอเชียใต้ และจีน รวม 19 งาน การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาธุรกิจต่างประเทศ อาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง 7 คณะ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ 20 กิจกรรม

นอกจากนี้ กรมฯให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยจัดสัมมนาฝึกอบรม สร้างทักษะใหม่ แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี รองรับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลง การสร้างผู้ส่งออกรายใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในระบบ และยังได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์ หลักสูตรอบรมของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (เอ็นอีเอ) ซึ่งปี 68 มีหลักสูตรการฝึกอบรมกว่า 109 หลักสูตร 24 กิจกรรม คาดการณ์ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ ไม่ต่ำกว่า 7,800 ราย

ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ กรมจะพัฒนาผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ด้วยแบรนด์ นวัตกรรม การออกแบบ และคงอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ผ่านโครงการมอบรางวัลและตราสัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ โครงการส่งเสริมนักออกแบบและผู้ประกอบการ โครงการดีไซเนอร์รูม เอสเอ็มอี กิจกรรมโอเพน เฮ้าส์ เพื่อสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการสร้างนักออกแบบสร้างการ์ตูน คาแร็กเตอร์ใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก

น.ส.สุนันทากล่าวว่า ส่วนแผนการผลักดันการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์นั้น ในปีงบ 68  กรมดำเนินโครงการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศด้วยพลังสร้างสรรค์ (ซอฟต์พาวเวอร์) เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหาร โดยจะปรับโฉมตราสัญลักษณ์ไทยซีเลกต์ (Thai SELECT) เครื่องหมายการันตีคุณภาพร้านอาหารไทย ให้เหมือนมิชลิน ที่จะให้ดาวกับร้านอาหารไทย และจะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อยกระดับอาหารไทยสู่อาหารระดับโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ส่งออกสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารต่างๆ เครื่องปรุงรส ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งร้านสไตล์ไทย ฯลฯ 2.บริการ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ซีรีส์วาย หนังสือ เกม มวย 3.สินค้าแฟชั่น สินค้าโอทอปไทย และ4. การสร้างแบรนด์ประเทศไทย

“การปรับโฉมไทยซีเลกต์ใหม่นั้น วางแผนจะเปิดตัวภายในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-Anuga Asia 2025 เดือนพ.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ให้ทรงเป็น Global Ambassador ของโครงการด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยซีเลกต์ได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ปี 68 ตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการด้านซอฟต์พาวเวอร์จะได้รับประโยชน์ 5,684 ราย สร้างมูลค่าการค้าได้กว่า 7,016 ล้านบาท ขณะที่ปี 69 กรมจะเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดทำคำของบประมาณโครงการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากลครอบคลุม 6 สาขา ได้แก่ เกม หนังสือ การออกแบบ ดนตรี แฟชั่น ภาพยนตร์ วงเงินรวม 359.67 ล้านบาท

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap