สสธวท. แถลงข่าวพิธีเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 ก.ค.

สสธวท. จับมือพันธมิตร แถลงข่าวพิธีเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 ก.ค.

นางณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท.) เปิดเผยว่า ได้ผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม” ซึ่งทางคณะกรรมการผู้จัดทำโครงการฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต และซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี จึงใคร่ขอเรียนเชิญพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศและชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ในวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 เวลา 17.00 น. ณ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร

“ที่มาของการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ­72 พรรษา เริ่มแรกตั้งใจทำงานกาล่าดินเนอร์เบญจกตัญญุตา แต่โดยส่วนตัวคิดว่าจัดงานแล้ว ควรต่อยอดอะไรได้บ้าง เลยคิดว่าน่าจะมีถาวรวัตถุสร้างเฉลิมพระเกียรติในวาระมหามงคลนี้ จึงได้ชวนคุณจรรย์สมร ไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส พร้อมกับขอคำแนะนำจากท่าน ว่านอกเหนือจากการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและท้องถิ่นด้วย ประกอบกับได้รับความเห็นพ้องของคณะสมาชิกสมาพันธ์และเครือข่าย จึงเป็นที่มาของจัดงานกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสดังกล่าว พร้อมระดุมทุนสำหรับเริ่มโครงการที่สอง คือการจัดสร้าง “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ72 พรรษา” สองแลนด์มาร์คใหม่ บนถนนเจริญกรุง ภายใต้องค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ 1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราชสมภพในปีมังกร 2.ปี 2567 ตรงกับปีนักษัตรมังกร 3.มังกร หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน 4.พระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส เป็นที่ปรึกษา และ 5.ถนนเจริญกรุง เป็นถนนสายแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นถนนสายมังกร ฉะนั้นเราจึงได้ครบ 5 มังกรที่จะถวายพระมหาจักรพรรดิ์ของเรา” นางณัฐิกา กล่าว

ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องมีซุ้มประตู 2 แห่ง ตอนแรกเล็งพื้นที่ตรงบริเวณ ห้าแยกหมอมี เพราะคิดว่าเหมาะสมที่สุด แต่ได้รับคำแนะนำจากพระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ว่ามีหัวมังกรต้องมีท้ายมังกรจึงจะครบ โดยเฉพาะตรงที่บริเวณห้าแยกหมอมี ซึ่ง 5 แยก ก็เหมือน 5 เล็บมังกร และมังกร 5 เล็บ มีความหมายว่า” จักรพรรดิ” การนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อ สวนหัวมังกรอยู่ที่สะพานดำรงสถิต นามว่า “วชิรสถิต 72 พรรษา” หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุยั่งยืน 72 พรรษา ส่วนที่ห้าแยกหมอมีพระราชทานนามว่า “วชิรธำรง 72 พรรษา” หมายถึง ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์จารึกการเทิดทูนของพสกนิกรขาวไทยในอภิมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ความยิ่งใหญ่ของโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู และความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งความเจริญที่มีชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจัดสร้างสำเร็จเรียบร้อยได้ระยะเวลาเพียง 8 เดือน ด้วยพระบารมีและบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การดำเนินงานทุกขั้นนตอนผ่านไปได้อย่างราบรื่น พร้อมด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอีกหนึ่งวาระสำคัญ เนื่องจากความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปี 2568 จะครบ 50 ปี รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้แสดงออกถึงมิตรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต ด้วยการได้มอบประติมากรรมมงคลจากหินฮั่นไป๋หวี่ (หินอ่อนหยกสีขาว) ซึ่งเป็นหินชนิดพิเศษของจีน ที่ใช้เฉพาะในพระบรมมหาราชวังจีนเท่านั้น รังสรรค์โดยศิลปินชาวจีน แกะสลักเป็นรูปช้าง สิงโต เป็นตัวแทนประเทศไทยและจีน และกลอง เพื่อประดิษฐานที่ฐานเสาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย” นางณัฐิกา กล่าว

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้ ททท. มีส่วนสำคัญมาเข้าร่วมโครงการอันเป็นมงคลยิ่งในครั้งนี้ ขณะเดียวกันยัง เสนอให้ ททท. รับบทบาทในการเผยแพร่และเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยและนานาประเทศได้เห็นถึงความงดงามและความสำคัญของ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูกตเวที และความจงรักภักดีของชาวไทย นอกจากนี้ ททท. ยังเห็นความสำคัญ ที่จะต้องสร้างเสริมให้ “ซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา” และ “วชิรธำรง 72 พรรษา” ทั้งสองแห่งนี้ เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุง เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกภูมิภาคทั่วโลก อีกทั้งยังเชื่อว่าแลนด์มาร์คทั้งสองแห่งนี้จะมีเรื่องราวเป็นที่น่าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ต้องมาเที่ยวให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต

สำหรับถนนเจริญกรุงเคยมีบทบาทสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศในรัชสมัยเมือ เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน การมีซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติทั้งสองแห่งนี้บนถนนเจริญกรุงจะเป็นการกฟื้นฟูความสำคัญ และบทบาทของถนนเจริญกรุงให้กลับมาเป็นที่รุ่งโรจน์เฟื่องฟูอีกครั้ง และจะสอดคล้องความสำคัญและยิ่งใหญ่ของถนนเยาวราชที่มีความสำคัญและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสร่วมดำเนินงานจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 2 ซุ้มประตู อันเป็นมิ่งมงคลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หอการค้าไทยก่อตั้งขึ้นมา 92 ปี สมัยก่อนชาวจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อร่างสร้างตัว ประกอบธุรกิจการค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของไทย ทำให้คนไทยที่ทำภาคเกษตร รู้จักการทำมาค้าขาย นำมาสู่การจัดตั้งหอการค้าในแต่ละจังหวัด ก่อนจะรวมกันเป็นหอการค้าไทย ถือเป็นองค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจของคนไทยที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ โดยดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปฏิบัติตามพระราชประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม และสนองงานตามแนวพระราชดำริในหลวง

“หอการค้าไทยปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 1.56 แสนราย ประกอบด้วยหอการค้าไทยทุกจังหวัด สมาคมการค้า 174 แห่ง และหอการค้าต่างประเทศอีก 40 ประเทศ พร้อมด้วยเครือข่ายภาคธุรกิจทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศ แสดงออกถึงความจงภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั้งชาติ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายสนั่น กล่าว

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน ในนามองค์กรชาวไทย เชื้อสายจีนในประเทศไทยกล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2453 จากสมาชิกหลักสิบเป็นหลักล้าน ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัย โดยบทบาทของหอการค้าไทย-จีน มุ่งตอบสนองความต้องการของชาวจีนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ควบคู่การดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม จนกระทั่งการบริจาคช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติและภัยพิบัติในประเทศไทย กาลเวลาผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบันกว่า 115 ปี นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

นายชิม ชินวิริยกุล นายกสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ในนามองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน มั่นคงภายใต้ร่มพระบารมี เป็นศูนย์รวมของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ชาวจีนโพ้นทะเล และนักธุรกิจชาวจีนที่มาทำการค้าการลงทุนในไทย ที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและจีนในทุกมิติ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน

นายกิตติ อิทธิภากร ประธานสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทยในนามองค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทย-จีน น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตลอดจนเคารพเทิดทูนพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสมหามงคล 72 พรรษา ชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศต่างมีความปลื้มปีติ ทั้งพ่อค้าไทยจีนที่มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ ผนึกกำลังร่วมสนับสนุนการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อแผ่นดิน ปรากฏชั่วลูกชั่วหลาน เหนือสิ่งอื่นใดเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่แสดงความจงรักภักดีต่อในหลวง ศูนย์รวมใจพสกนิกรทุกเชื้อชาติในประเทศไทย” ดร.กิตติ กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ซุ้มประตูมังกร สัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุขและความสงบร่มเย็นของปวงประชา

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap