“จิราพร” ตั้งคณะกรรมการล้อมคอกสั่ง “ออปโป้-เรียลมี”

“จิราพร” ตั้งคณะกรรมการล้อมคอกสั่ง “ออปโป้-เรียลมี” ติดตั้งแอปพลิเคชัน ส่ง ธปท. ดูดอกเบี้ยเงินกู้ 15% “ประเสริฐ” ให้ตรวจสอบมือถือรุ่นอื่นด้วย

เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 15 ม.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกรณีมือถือยี่ห้อออปโป้และยี่ห้อเรียลมี ติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้ โดยมาพร้อมกับเครื่อง ว่า วันนี้ (15 ม.ค. 68) ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาข้อสรุปข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้น ภายหลังจากจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และตำรวจสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีการเชิญทั้งสองบริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เมื่อวันที่ 13 และ14 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เบื้องต้นมีความเห็นว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้ครบทุกมติ ตั้งแต่การตรวจสอบการติดตั้งแอป​ โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ยินยอม การหาเจ้าภาพจะจัดทำกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่และป้องกันเชิงรุก ไม่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน และละเมิดสิทธิส่วนบุคคคล เพราะเท่าที่ประมวลผลกัน เรายังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดไปบังคับให้ถอนแอปพลิเคชันออกได้ทันที เป็นการขอความร่วมมือจากบริษัททั้งสองแห่ง ในส่วนการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้แต่ กสทช. ก็ไม่มีกฎหมายใดไปตรวจแอปที่ติดมากับมือถือได้ มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะฮาร์ดแวร์ และหน่วยงานอื่นๆ ก็ไม่มีกฎหมายเข้ามาตรวจสอบเชิงรุกประเด็นนี้ได้  

อย่างใรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ประสานบริษัทมือถือเพื่อถอนแอปออกนั้น ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะกำกับดูแลกฎหมายอนุญาตการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ ในกรณีที่แอปพลิเคชันที่ติดตั้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และมีประชาชนกู้เงินและถูกคิดดอกเบี้ยเกิน 15% จะถือว่ามีความผิด โดย ธปท. จะเป็นเจ้าภาพคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบ โดยจะนำตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันตรวจแอปในเชิงรุก

ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบสามารถมาร้องเรียนกับ สคบ. ที่จะช่วยดูแลความเสียหายทางแพ่งให้เพื่อประสานดำเนินคดีต่อไป และตำรวจ บก.ปคบ. ก็พร้อมรับเรื่องที่ประชาชนได้ร้องเรียนจากสภาคุ้มครองผู้บริโภค และดูการคุ้มครองทางอาญาต่อไปด้วย

“เบื้องต้นที่ตรวจสอบพบว่า แอปฯ Fineasy เป็นแพลตฟอร์มที่โฆษณาแอปเงินกู้ ไม่ได้ปล่อยกู้โดยตรง แต่มีบริษัทปล่อยกู้มาโฆษณา ส่วนแอปสินเชื่อความสุข เป็นแอปปล่อยกู้เลย ไม่ได้ขออนุญาตจาก ธปท. จะให้ผู้เสียหายมาให้ข้อมูล หากปล่อยกู้เกิน 15% ก็ผิดกฎหมาย จะประสานตำรวจดำเนินการต่อ และติดตั้งแอปโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือว่าทางบริษัทผู้จำหน่ายมือถือมีส่วนสนับสนุนกระทำความผิดเช่นกันก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับเป็นหลักล้านบาท“

ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตั้งข้อสังเกตของผู้จำหน่ายโทรศัพท์ทั้ง 2 ค่ายนี้ คือเรื่องการขออนุญาตในเรื่องการกู้ยืมเงิน ซึ่งต้องขออนุญาตจาก ธปท. โดยการตรวจสอบเบื้องต้น ธปท. ยืนยันมาแล้วว่าไม่ได้ขอ และเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อาจจะต้องดูเข้าค่ายผิดข้อใดหรือไม่ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย จากนี้ไปต้องตรวจสอบมือถือรุ่นอื่นๆ ด้วย ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ตอนนี้ยังไม่มีผู้ใดมาแจ้งว่าเสียหายเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เพียงแต่เป็นลักษณะก่อให้เกิดความรำคาญ และยังไม่สามารถปิดได้เท่านั้นเอง ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี เท่าที่เราทราบข้อมูลจากตำรวจ ฉะนั้นก็ต้องดู แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องหาวิธีป้องกันในอนาคต

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap