ต้องอ่าน! ‘ประกันภัย’ คืออะไร มีกี่ประเภท ความคุ้มครองแตกต่างกันอย่างไร

ทำความรู้จัก ประกันภัย มีกี่ประเภท รูปแบบเป็นอย่างไร "ประกันวินาศภัย" กับ "ประกันชีวิต" แตกต่างกันแค่ไหน ความคุ้มครองอย่างไร

ในปัจจุบันหลายคนนิยมซื้อประกันภัย เพื่อความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบมิคาดฝัน ทำให้นอกจากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินแล้ว อาจต้องเสียเงินจำนวนมากในการดูแลรักษา หากไม่ได้ทำประกันเอาไว้

มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ประกันภัยมีอะไรบ้าง มีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร?

การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประกันภัย

ประกันภัยสามารถแบ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เป็น 2 ประเภท คือ

การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) คือ การประกันที่ใช้สินทรัพย์ วัตถุหรือความรับผิดเป็นเหตุให้เกิดการชดใช้เงินตามสัญญา เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการโจรกรรม ฯลฯการประกันชีวิต (Life Insurance) คือ การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจาก การตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิต จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันภัยตามหลักวิชาการ อีกหนึ่งประเภท คือ

การประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมาย (Liability Insurance) เป็นการประกันภัยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ที่เกิดจากการประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย บุคคลในครอบครัว หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือทรัพย์สินเสียหาย เช่น การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ,การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์,การประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ

ทำความรู้จัก “ประกันวินาศภัย” มี 4 ประเภทได้แก่

1.ประกันอัคคีภัย คุ้มครองทรัพย์สินจากเหตุไฟไหม้ ฟ้าผ่า รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สโดยสามารถเอาประกันได้ทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ประเภทสิ่งปลูกสร้าง

2.ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ทั้งความเสียหายต่อตัวรถ ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงบุคคลภายนอกที่ทรัพย์สินเสียหาย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

3.ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันที่คุ้มครองความเสียหายแก่เรือและทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลรวมไปถึงการขนส่งทางอากาศและทางบกด้วย

4.ประกันภัยเบ็ดเตล็ด คุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากเหตุมิได้คาดหมาย นอกเหนือจาก 3 ประเภทที่ได้กล่าวไปแล้ว ตัวอย่างประกันภัยเบ็ดเตล็ด เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุ,ประกันสุขภาพ,ประกันการเดินทาง,ประกันภัยโจรกรรม หรือ ประกันภัยพืชผล เป็นต้น

ส่วน “ประกันชีวิต” มี 4 รูปแบบ ได้แก่

1.ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Life Insurance) คือประกันชีวิตที่เน้นการคุ้มครองระยะสั้น โดยเราเลือกช่วงเวลาในการจ่ายเบี้ยและรับการคุ้มครองได้เอง เช่น คุ้มครองภายในระยะเวลา 1 ปี 5 ปี หรือ 20 ปี เป็นต้น เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองดังกล่าวแล้ว แต่ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะถือว่ากรมธรรม์ฉบับนั้นได้สิ้นสุดความคุ้มครองลง โดยผู้ประกันจะไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ เป็นการประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้เอาประกันภัยเพียงอย่างเดียว เป็นเบี้ยประกันภัยแบบจ่ายทิ้งแต่ก็ถือเป็นแบบประกันที่เบี้ยประกันภัยถูกที่สุด

ประกันชีวิตประเภทนี้เหมาะกับบุคคลที่มีความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่มาก เช่น คู่สมรสใหม่ที่อยู่ระหว่างการสร้างครอบครัว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หากเกิดเหตุผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในช่วงระยะเวลาที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ ก็ไม่ต้องกลัวว่าภาระหนี้สินจะตกไปเป็นของครอบครัว เพราะทางบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้จ่ายหนี้สินแทนให้ เช่น ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อต่างๆ

2.ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance) คือประกันชีวิตประเภทที่เน้นการคุ้มครองระยะยาว โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 2 ปี,10 ปี หรือ 20 ปี แต่ให้การคุ้มครองตลอดชีพ หรือจนถึง 99 ปี เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่มีภาระรับผิดชอบ เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือต้องการวางแผนมรดกให้ลูกหลาน

3.ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment / Saving Insurance) คือ การประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและออมเงิน ในส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด ถือเป็นตัวช่วยสร้างวินัยในการออม และเป็นแบบประกันที่นิยมมากสุดในประเทศไทย เพราะได้ทั้งการเก็บออมและความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมกัน

4.ประกันชีวิตแบบได้เงินประจำ/บำนาญ (Annuity Insurance) คือ การประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกปี นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรืออายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ เป็นกรมธรรม์ที่เน้นการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณโดยเฉพาะ โดยจะต้องออมอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ แล้วหลังเกษียณจะมีเงินคืนจากแบบประกันทุกๆ ปี ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยในการวางแผนการเงินสำหรับเกษียณได้เป็นอย่างดี

ที่มา : KKP Advice Center

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap