กรมทรัพย์สินฯ จับมือองค์การสวนสัตว์ฯ จดทะเบียนการค้า’หมูเด้ง’ หวังดังไกลระดับโลก

กรมทรัพย์สินฯ จับมือองค์การสวนสัตว์ฯ ดัน 'หมูเด้ง' เพิ่มมูลค่าจากคาแรกเตอร์ให้ดังไกลระดับโลก

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อวางแนวทางในการผลักดัน การปกป้องคุ้มครองและบริหารสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับ “หมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระชื่อดัง รวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยองค์การสวนสัตว์ฯ  

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคาแรกเตอร์ให้มีความโดดเด่น พร้อมต่อยอดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ผ่านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกคอนเทนต์ของไทยให้มากขึ้น สร้างมูลค่าทางธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในระดับสากลด้วยทรัพย์สินทางปัญญาอย่างยั่งยืน

นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญในการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อันนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกรมฯ ได้จับมือกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ผลักดันการพัฒนาคาแรกเตอร์ “หมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระชื่อดังให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อสร้างความแตกต่าง และนำไปต่อยอดเป็น Soft Power ที่ทรงพลัง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เช่น ของที่ระลึก สื่อสร้างสรรค์ และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับสากล”

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงช่วยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในความดูแลขององค์การสวนสัตว์ฯ เช่น “หมูเด้ง” แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของสัตว์หายากและเรื่องราวเบื้องหลัง ที่น่าสนใจ ผ่านผลิตภัณฑ์และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ยังสร้างรายได้กลับคืนสู่ประเทศในหลายมิติ

นอกจากนี้ การนำ “หมูเด้ง” และสัตว์อื่นๆ มาพัฒนาคาแรกเตอร์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยังช่วยสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้าน Soft Power ผ่านการผสมผสานทรัพย์สินทางปัญญา วัฒนธรรม และนวัตกรรมเข้าด้วยกัน โดยรายได้จากการดำเนินงานดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จะทำให้สัตว์ป่ามีชีวิตที่ดีขึ้น”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap