เปิดผลดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดน นักธุรกิจหวังสถานการณ์จะดีขึ้น

หอการค้าไทย จับมือ ม.หอการค้าไทย ทำดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและผ่านแดนไทย ครั้งแรก หวังติดตามแนวโน้มการค้า ดัชนีเดือน ม.ค. 68 พบระยะสั้น นักธุรกิจยังไม่เชื่อมั่น แต่สถานการณ์จะดีขึ้นในอีก 6 เดือนถึง 1 ปี โดยคาดมูลค่าปีนี้ เฉียด 2 ล้านล้านบาท โต 9.1%

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย เป็นครั้งแรกของไทย เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทย และนำมาจัดทำเป็นกลยุทธ์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อทำให้มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยบรรลุเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านบาทภายในปี 70 ตามที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายไว้

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนไทยเดือน ม.ค. 68 ได้สำรวจจากนักธุรกิจตัวอย่าง 327 ราย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้านั้น จะประกอบด้วยความเชื่อมั่นระยะสั้น คือ เดือน ม.ค. 68,ระยะกลางในอีก 6 เดือนข้างหน้า และระยะยาวภายใน 1 ปีหรือในปี 68 โดยค่าดัชนีเท่ากับ 100 หากต่ำกว่า 50 แสดงว่าสถานการณ์ไม่ดี แต่หากใกล้เคียง 100 แสดงว่าดี สำหรับดัชนีเดือน ม.ค. 68 ซึ่งรวมทั้งด้านส่งออกและนำเข้า เท่ากับ 49.5 ดัชนีระยะกลาง เท่ากับ 52.8 และดัชนีระยะยาว เท่ากับ 63.6

ทั้งนี้ หากแยกตามภาคธุรกิจ พบว่า ภาคเกษตร ดัชนีระยะสั้น กลาง และยาว อยู่ที่ 48.7,51.1 และ 58.4 ตามลำดับ ส่วนภาคอุตสาหกรรมเกษตร อยู่ที่ 49.5,53.4 และ 64.7 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 50.1,52.3 และ 66.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่า มาเลเซีย ลาว จีนตอนใต้ ค่าดัชนีทั้ง 3 ระยะเกิน 50 โดยในระยะยาวค่าดัชนีเกิน 60 ส่วนกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ค่าดัชนีระยะสั้นต่ำกว่า 50 แต่ในระยะกลางและยาวเกิน 50 ซึ่งดัชนีในเดือน ม.ค. 68 ยังต่ำ แสดงถึงผู้ประกอบการยังอาจไม่แน่นอนทิศทางการค้า แต่ในระยะกลางและยาว เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยบวกต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนปี 68 ได้แก่ ความต้องการสินค้าไทยในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับ,ศักยภาพของด่านการค้าชายแดนที่เติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะด่านแม่สอด,การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน การอำนวยความสะสะดวกการค้า,การผลักดันความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน,เศรษฐกิจเพื่อนบ้ายยังคงเติบโต ส่วนปัจจัยลบ คือ ความไม่สงบของเมียนมา และการปิดถนน,การเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน,อุปสรรคทางพิธีการศุลกากร ความล่าช้าของการขออนุญาตนำเข้า,ความผันผวนของค่าเงิน และราคาน้ำมัน,จีนออกมาตรการเข้มงวดตรวจสอบทุเรียนไทย

“จากผลสำรวจ คาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 68 จะอยู่ที่ประมาณ 1.919 ล้านล้านบาท ขยายตัว 9.1% โดยจะเติบโตทุกตลาด ทั้งมาเลเซีย ลาว เมียนมา กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม แต่จีนตอนใต้จะเติบโตมากที่สุดทั้งด้านการส่งออก และนำเข้า อย่างไรก็ตาม คาดการณ์นี้ ยังไม่รวมผลกระทบจากทรัมป์ 2.0”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ คือ ยกระดับด่านชายแดนต่างๆ โดยเฉพาะด้านห้วยต้นนุ่น ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และยกระดับจุดผ่อนปรนห้วยผึ้ง และแม่สามแลบ ให้เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ,ส่งเสริมและประสานคามร่วมมือกับเมียนมาแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ,พัฒนาระบบลั้นตอนพิธีการศุลกากร,สนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ช่วยเหลือเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฯลฯ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจ พบว่า ภาคธุรกิจยังไม่มั่นใจการส่งออก เพราะดัชนีเดือน ม.ค. 68 ต่ำกว่าระดับ 50 แต่สถานการณ์จะดีขึ้นตั้งแต่กลางถึงสิ้นปี และทุกสินค้า สถานการณ์ก็จะเด่นขึ้นเป็นลำดับในช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ ขณะที่สถานการณ์ส่งออกและนำเข้าของมาเลเซีย ลาว และจีน จะดีขึ้นทุกระยะ ยกเว้นเวียดนาม สิงคโปร์ แต่ใน 1 ปีทุกประเทศจะดีขึ้น

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap