“พิชัย“ ร่วมวง WTO ดาวอส ถกรับมือความตึงเครียดทางการค้าโลก

ลุยเวทีโลกต่อเนื่อง! “พิชัย“ ร่วมวง WTO ที่ดาวอส รับมือความตึงเครียดทางการค้า มั่นใจ นายกฯ นำพาประเทศสู่ยุคทองการค้า-ลงทุน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering: IMG) ณ Hotel Morosani Schweizerhof เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยในที่ประชุมฯ มี นายกีร์ ปาร์เมอแล็ง รองประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ในฐานะประธานการประชุม และดร.เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ร่วมด้วย การประชุม IMG เป็นการประชุมกลุ่มเล็ก ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก WTO ที่มีบทบาทสำคัญได้รับเชิญให้เข้าร่วมเพียง 24 ประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย

นายพิชัย เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ตนได้กล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ WTO ในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตนได้แจ้งประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการให้มีผลลัพธ์ในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 14 (Ministerial Conference: MC14) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2569 ณ ประเทศแคเมอรูน ได้แก่ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหารเพื่อส่งเสริมการค้าเกษตรและการเข้าถึงอาหารอย่างยั่งยืน การเจรจาการอุดหนุนประมงระยะที่สองที่ควรบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และการค้าดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาชิก WTO จำนวนมากให้ความสำคัญและหยิบยกขึ้นหารือในกรอบการประชุมต่าง ๆ มากขึ้น

“การประชุม WTO ครั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่แสดงความกังวลเรื่องแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประเทศสมาชิก WTO ต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาโดยจะมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับ และให้ประเทศสมาชิก WTO จับมือกันให้แน่นเพื่อต่อสู้กับแนวโน้มดังกล่าว เป้าหมายของ WTO คือส่งเสริมให้การค้าขยายตัว อย่างเป็นธรรมและครอบคลุม“

ในการหารือภายใต้องค์การการค้าโลก มีเรื่องประเด็นใหม่ๆ เช่น เรื่องดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่มีพรมแดน แต่ต้องมีกฎเกณฑ์กฎระเบียบมารองรับและต้องตามให้ทันกับกระแสของโลก ทุกประเทศต้องเจริญไปด้วยกันและการค้าระหว่างประเทศต้องคล่องตัวขึ้น โดยDEFA หรือ Digital Economy Framework Agreement ที่ประเทศไทยที่เป็นประธานในเรื่องนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศสมาชิก และไทยอยากเร่งให้มีการดำเนินการให้สำเร็จ

รมว.พาณิชย์ ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อดิจิทัลเชื่อมต่อกันหมดก็จะเป็น Globalization สุดท้ายจะจบที่การเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หลายอย่าง เพราะเรามีความพร้อมด้านโครงสร้างดิจิทัล ไฟฟ้า และเทคโนโลยี การลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามาเยอะมาก ปีที่แล้วมีการลงทุนเข้ามามากกว่า 1 ล้านล้านบาท ประเทศไทยกำลังไปได้ดี ผอมมา 10 ปี จะให้อ้วนทันทีคงไม่ได้ ต้องค่อยๆ โต เราเริ่มอ้วนขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขส่งออกเดือนธันวาคม 2567 บวก 8.7% ทั้งปี 2567 เราโตถึง 5.4% เป็นเรื่องที่ดีมาก และปีนี้ก็จะเป็นปีที่ดีเพราะมีการลงทุนเข้ามามาก เราจะส่งออกได้มากขึ้น เหมือน Snow Ball effect (ผลกระทบที่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ จนกลายเป็นสู่การสร้างผลกระทบเรื่องใหญ่) การที่ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เดินทางมาดาวอสในครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

“ขอให้มั่นใจว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ เรามองไปข้างหน้า ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ตอนนี้บางคนอาจจะยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่เพราะเป็นปัญหาหนี้ค้างเก่า เราพยายามจะแก้ปัญหา แต่เมื่อเงินเข้ามาการลงทุนเข้ามา พอทุกคนมีเงิน ปัญหาหนี้ต่างๆ ก็จะผ่อนคลาย เราพยายามสร้างเศรษฐกิจให้โตอยากให้ทุกคนในประเทศเปิดใจให้กว้างและให้โอกาส ทรัมป์พูดว่าอเมริกาถึงช่วง Golden Era หรือยุคทอง ซึ่งตนเชื่อว่าภายใต้การนำของท่านนายกฯ ประเทศไทย ก็จะถึง Golden Era ในด้านการค้าการลงทุนเหมือนกัน” นายพิชัย กล่าว

ในการเยือนดาวอสในครั้งนี้ นายพิชัยและคณะ ได้หารือกับ ดร.เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยในการเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่แข็งแกร่ง สร้างความมั่นใจให้แก่พันธมิตรทางการค้าและนักลงทุนทั่วโลก และยังตอกย้ำบทบาทสำคัญของรัฐบาลไทยในเวทีการค้าโลกด้วย

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า องค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 166 ประเทศ เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อเป็นเวทีในการเจรจาจัดทำและกำกับดูแลกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ และลดอุปสรรคทางการค้า รวมถึงสนับสนุนให้มีการค้าที่เป็นธรรมและเสรียิ่งขึ้น และยังเป็นเวทีหลักสำคัญในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสมาชิก

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap