เริ่มแล้ว ขึ้นภาษีความหวานระยะ 4 น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำตาลเกิน 10 กรัม/ลิตร โดนเก็บ 5 บ.

เริ่มแล้ว ขึ้นภาษีความหวานระยะ 4 เครื่องดื่มน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร โดนสูงสุด 5 บาท สรรพสามิตมั่นใจ ไม่กระทบราคาน้ำหวาน น้ำอัดลม หลังผู้ผลิตแห่ปรับสูตรผลิตหลบภาษี

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิต ได้ประกาศปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เข้าสู่ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายแล้ว โดยมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 68 เป็นต้นไป หลังที่ผ่านมา ได้สิ้นสุดการใช้ภาษีความหวานระยะที่ 3 ไปเมื่อ 31 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่ม หรือสินค้าที่มีความหวาน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต โดยลดส่วนผสมจากน้ำตาลลง จะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีใหม่

“การขึ้นภาษีความหวานครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับขึ้นแบบอัตราก้าวหน้าทุกๆ 2 ปี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว โดยมีเป้าหมายให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ลดปริมาณส่วนผสมน้ำตาลหรือความหวานลง เพื่อดูแลสุขภาพคนไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หรือโรคภัยอื่นๆ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ลดความหวานลง จะเสียภาษีเพิ่ม เช่น ในปีนี้เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 3 บาท เป็น 5 บาท แต่ในทางกลับกัน หากมีการลดความหวานลงไม่เกิน 6 กรัมต่อลิตร ก็จะไม่เสียภาษีเลย”

สำหรับอัตราภาษีความหวานระยะที่ 4 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 68 เมื่อเทียบกับระยะที่ 3 มีอัตราดังนี้ กลุ่มปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัม คิดภาษีเท่าเดิม 0 บาทต่อลิตร กลุ่มปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตรา 0.3 บาทต่อลิตร เป็น 1 บาทต่อลิตร กลุ่มปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตรา 1 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร กลุ่มปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากอัตรา 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร กลุ่มปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดภาษีเท่าเดิมที่ 5 บาทต่อลิตร และกลุ่มปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 18 กรัม คิดภาษีเท่าเดิมที่ 5 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิต ได้ประเมินว่าการขึ้นภาษีความหวานรอบนี้ จะไม่กระทบราคาเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือน้ำอัดลมราคาเพิ่มขึ้นมากจนกลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค เนื่องจากทางผู้ผลิตสินค้าได้ทยอยปรับตัว ลดส่วนผสมน้ำตาลลง หรือหันไปใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ผสมกับน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพจะน้อยกว่าแล้ว 

ทั้งนี้ เห็นได้จากสถิติการผลิตเครื่องดื่มผสมความหวาน ตั้งแต่ปี 61-66 พบว่าผู้ประกอบการได้ปรับตัว ลดสูตรการผลิตโดยใช้น้ำตาลน้อยลง เพื่อให้เสียภาษีที่ถูกกว่าเดิม อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีความหวานไม่เกิน 6 กรัม ซึ่งไม่ต้องจ่ายภาษีเลย มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีเพียง 90 สินค้า เพิ่มเป็น 4,736 สินค้าในปี 66 หรือกลุ่มเครื่องดื่มที่มีความหวาน 6-8 กรัม ที่เสียภาษีต่ำ ก็มีจำนวนเพิ่มจากปี 61 ที่ 758 สินค้า เพิ่มเป็น 2,900 สินค้า สวนทางกับกลุ่มเครื่องดื่มที่เสียภาษีสูง เช่น เครื่องดื่มมีความหวานเกิน 14 กรัม ลดจำนวนจากที่เคยมี 819 สินค้าในปี 61 จนปัจจุบันไม่เหลือสินค้ากลุ่มนี้เลย เช่นเดียวกับเครื่องดื่มที่มีความหวาน 10-14 กรัม จากที่เคยมีสินค้ามากถึง 2,993 รายการ ในปี 61 ก็เหลือเพียง 524 สินค้า ในปี 66 เท่านั้น

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap