ไทยแย้มกลยุทธ์รับมือทรัมป์ เล็งนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐ เปิดสินเชื่อเอกชน 3 พันล้านบาท เยียวยาเอกชน

"ศุภวุฒิ" เผยยุทธศาสตร์เจรจาภาษีทรัมป์ เล็งนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐ ใช้จุดแข็งประเทศไทย "แปรรูป" ส่งขายทั่วโลก พร้อมอุ้มภาคเอกชน เปิดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3,000 ล้านบาท เยียวยาเอกชนไทยที่รับผลกระทบ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แนวทางการเจรจานโยบายการค้ากับสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศขึ้นภาษีไทย 36% ซึ่งรัฐบาลไทยโดยการดำเนินการของคณะทำงาน ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ประเทศ อาทิ การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐ ที่ผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารของประเทศไทย เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก 

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะถูกดำเนินการผ่านการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ และดำเนินการมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิสินค้าจากประเทศอื่นๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิตและประเทศเราผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มเติม ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐ โดยการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เป็นไปเพื่อลดภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐ และเปิดบันไดทางลงให้กับสหรัฐ เมื่อมาตรการขึ้นภาษีได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ มากกว่าที่คาดการณ์

ทั้งนี้ยังเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ อีกว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของผู้ประกอบการในระยะสั้น และเตรียมเงินทุนสำหรับใช้ในการให้ผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปสหรัฐ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการเหล่านี้ จะช่วยผู้ประกอบการไทย สามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การดำเนินการเจรจากับสหรัฐ จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ภายใต้หลักการที่สหรัฐได้ประโยชน์ และประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม กระบวนการเจรจาต่อรองดังกล่าว ต้องเจรจาในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน ยกเว้นสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี ดังนั้น ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งคือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อทำการเจรจา ก่อนที่จะมีการเจรจารอบสุดท้ายเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนค้าสินค้าที่ยังตกลงกันไม่ได้ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกา

“การดำเนินการรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ อาจไม่ส่งผลดีกับประเทศนั้นๆ นัก เนื่องจากไม่สามารถทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของแนวทางการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาทิ ประเทศแคนาดาและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐ แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้เร่งดำเนินการเจรจาไปก่อนหน้า หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐ แต่สุดท้ายทุกประเทศที่ไปเจรจากลับถูกขึ้นภาษีเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ คือ การคิดแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา” นายศุภวุฒิ กล่าว

นายศุภวุฒิ  กล่าวว่า ประเทศเล็กอย่างไทยต้องหาอํานาจต่อรอง และต้องสร้างแนวร่วมที่อเมริกา ซึ่งนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประเมินแล้วว่า ต้องไปทางนี้ กับมลรัฐเกษตรของอเมริกา และมันก็เป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของไทยด้วยว่า ไทยต้องการจะเป็นผู้แปรรูปอาหารคุณภาพดีไปทั่วโลกก็ใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดของอเมริกา

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap