ส่องอาเซียน CLMV ถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงแค่ไหน

ส่องผลกระทบสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า "อาเซียน" CLMV โดนเก็บภาษีตอบโต้ Reciprocal Tariffs อัตราเท่าไหร่สูงแค่ไหน

จากกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยในอัตรา 36% จนทำให้สร้างความปั่นป่วนทั้งตลาดการเงินและตลาดทุน และความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมีค่อนข้างสูง

อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงระดับต้น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึง 45%-49% ในขณะที่ ไทยและอินโดนีเซียถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 36% และ 32% ตามลำดับ ส่วนประเทศสิงคโปร์ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำสุดในอาเซียนที่อัตรา 10%

อย่างไรก็ตาม Reciprocal Tariffs ยกเว้นการบังคับใช้กับสินค้าบางประเภท ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ ยารักษาโรค ไม้แปรรูป ทองแดง ทองคำแท่ง และยกเว้นให้กับสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 อย่างเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วน ปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าที่ 25%

Reciprocal Tariffs ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอาเซียน ตามการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ และการพึ่งพาการส่งออกของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยเวียดนามและกัมพูชาเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง

เวียดนาม: หากการเจรจาการค้ากับสหรัฐ ไม่สำเร็จ เวียดนามอาจไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากเหมือนที่ผ่านมา และการส่งออกคาดหดตัว กระทบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ รองเท้า

เงินลงทุนจากต่างประเทศที่เวียดนามเคยเป็นผู้ได้รับอานิสงส์หลักจากสงครามการค้าอาจจะลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คาดยังพอมีศักยภาพดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เนื่องจากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% เท่ากันทั่วโลกการส่งออกเวียดนามปี 2568 คาดหดตัวลงมาอยู่ที่ -4.5% จากประมาณการเดิมที่ 12.0% โดยมีรายละเอียดดังนี้


-ผลกระทบทางตรง: การส่งออกเวียดนามไปยังสหรัฐ คาดว่าจะหดตัวที่ -8.1% ในปี 2568 จากความต้องการสินค้าที่ลดลงในกลุ่มสินค้าที่เวียดนามพึ่งพาตลาดสหรัฐ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น เกมส์ และอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น


-ผลกระทบทางอ้อมผ่าน (1) การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เส้นด้ายฝ้าย และกระดาษลูกฟูก เป็นต้น (2) การส่งออกเวียดนามไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจีน อาทิ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ของเล่น เกมส์ และผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เป็นต้น

ความคืบหน้าการเจรจากับสหรัฐ ล่าสุด ณ วันที่ 4 เม.ย. รัฐบาลเวียดนามขอให้สหรัฐ เลื่อนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไปก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาการค้า ซึ่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา เวียดนามได้ประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์ ก๊าซ LNG เอทานอล และสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น แอปเปิล อัลมอนด์ เชอร์รี่ อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังให้คำมั่นจะนำเข้า เครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติ สินค้าไฮเทค และสินค้าเกษตรจากสหรัฐ จึงเป็นการแสดงความร่วมมือในการแก้ปัญหาสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังทบทวนตามข้อกังวลเกี่ยวกับเวียดนามตามรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เช่น การจำกัดด้านข้อมูลและไซเบอร์ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความไม่โปร่งใสในพิธีการศุลกากรและการออกใบอนุญาตนำเข้า เป็นต้น

อินโดนีเซีย: อัตราภาษีกระทบอินโดนีเซียจำกัด ขณะที่ทางการเตรียมแผนเจรจาเพื่อลดทอนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปแร่ น้ำมันปาล์ม

ผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศมีจำกัด เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติเพื่อขยายตลาดในประเทศ ประกอบกับมาตรการดึงดูดการลงทุนของทางการในโครงการผลิตสินค้าขั้นกลางน้ำของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และโครงสร้างก่อสร้างขนาดใหญ่การก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ยังอยู่ในแผนงานจึงน่าจะยังพอส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภาพรวมการส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจำกัด ขณะที่ผลทางอ้อมอาจฉุดการส่งออกอินโดนีเซียทั้งปี 2568 หดตัวที่ -3.3%


-ผลกระทบทางตรง: อินโดนีเซียพึ่งพาตลาดสหรัฐ คิดเป็น 10% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรในประเทศที่ยังมีความได้เปรียบในตลาดสหรัฐ และเป็นที่ต้องการ แต่อาจหดตัวมาจากกำลังซื้อสหรัฐ ที่ต้องรับมือกับภาษีในอัตราสูงขึ้นทำให้ความต้องการสินค้าอาหารและสินค้าเพื่อการบริโภคลดลงและฉุดภาพรวม ซึ่งโดยสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็น 55% ของการส่งออกอินโดนีเซียไปสหรัฐ สินค้าที่เหลือเป็นขั้นกลางเพื่อการผลิต สินค้าทุนและสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ในภาพรวมกระทบการส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม รองเท้า ยางล้อ อาหารทะเล ยางพารา และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น


-ผลกระทบทางอ้อม: จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่เป็นคู่ค้าหลักของอินโดนีเซียคิดเป็น 41% ของการส่งออกอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากแรงฉุดของสินค้าขั้นกลางและโภคภัณฑ์ที่อินโดนีเซียนส่งไปตลาดเหล่านี้มากกว่าครึ่งของการส่งออกทั้งหมด อาทิ เหล็ก แร่ ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม ไม้และเคมีภัณฑ์ ขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่งของอินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบผ่านการชะลอตัวของกำลังซื้ออาเซียนในระยะข้างหน้า

ทางการอินโดนีเซียมีการหารือกับสหรัฐ ตั้งแต่ต้นปี 2568 แต่ก็ยังถูกสหรัฐ เก็บภาษีตอบโต้ที่ 32% อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียนเตรียมส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปเจรจาเพื่อบรรเทากระทบทางภาษี โดยทางการให้น้ำหนักกับการทบทวนข้อกังวลที่สหรัฐ เคยหยิบยกไว้ในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้แก่ การปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตนำเข้า กฎระเบียบด้านฮาลาล และข้อกำหนดตามกฎหมายอิสลามที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้า เป็นต้น

กัมพูชา: Reciprocal Tariffs เสี่ยงกระทบการลงทุนกัมพูชาอย่างมากจากการพึ่งพาทุนจีนในระดับสูง และการส่งออกคาดหดตัว กระทบอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าสำหรับการเดินทาง

เงินลงทุนจากต่างประเทศที่พึ่งพาทุนจีนมากกว่า 50% อีกทั้งการสิ้นสุดของสิทธิประโยชน์ทางการค้าในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country: LDC) ในปี 2572 ก็ทำให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชาไม่ค่อยดีนักอยู่แล้ว เมื่อมี Reciprocal Tariffs จากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 49% ยิ่งส่งผลให้กัมพูชามีความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงิน FDI ได้น้อยลงการส่งออกกัมพูชา ปี 2568 คาดหดตัวมาอยู่ที่ -5.3% จากประมาณการเดิมที่ 11.9% โดยมีรายละเอียดดังนี้


-ผลกระทบทางตรง: การส่งออกกัมพูชาไปยังสหรัฐ คาดว่าจะหดตัวที่ -9.2% ในปี 2568 จากความต้องการสินค้าที่ลดลงในกลุ่มสินค้าที่กัมพูชาพึ่งพาตลาดสหรัฐมาก เช่น เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าสำหรับการเดินทาง เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ของเล่น เกมส์ และอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น


-ผลกระทบทางอ้อมผ่าน (1) การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสัตว์ฟอก อะลูมิเนียมดิบ (unwrought aluminum) ทองแดงดิบ (unrefined copper) เป็นต้น (2) การส่งออกกัมพูชาไปยังตลาดอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้

ความคืบหน้ารัฐบาลกัมพูชา ล่าสุด ณ วันที่ 3 เม.ย. กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาไม่เห็นด้วยกับ Reciprocal Tariff 49% โดยชี้แจงว่ากัมพูชามีอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เฉลี่ยที่ 29.4% อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากำลังหาช่องทางเจรจากับรัฐบาลสหรัฐ ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) มีข้อกังวลเกี่ยวกับกัมพูชาในประเด็นปัญหาการคอร์รัปชัjน การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

สปป.ลาว: ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐ ที่ต้องกังวลอยู่ในกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า กาแฟ

การลงทุนจากต่างประเทศได้รับผลจำกัด อาจมีการชะลอการลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศต้นทางชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนจากจีนและไทยที่ในสัดส่วนสูง 66% และ 18% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สปป.ลาว ยังมีแรงดึงดูดในการลงทุนการผลิตพลังงานทางเลือก การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรเพี่อส่งกลับไปสนับสนุนการบริโภคของจีนและประเทศใกล้เคียงการส่งออกของ สปป.ลาว ปี 2568 คาดเสี่ยงหดตัวเป็นผลจากราคาพลังงานและผลทางอ้อมของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างไทยและจีนที่ชะลอตัว

-ผลกระทบทางตรงจากการขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs ถึง 48% ส่งกระทบอย่างมากต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ ในกลุ่มสินค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก อาทิ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และกาแฟ แต่การลดลงดังกล่าวส่งผลต่อการส่งออกในภาพรวมค่อนข้างน้อยเนื่องจากสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกของ สปป.ลาว


-ผลกระทบทางอ้อมเป็นแรงฉุดสำคัญของการส่งออก สปป.ลาว โดยเฉพาะจีนและไทยที่เป็นคู่ค้าหลักสัดส่วนถึง 73% และมีแนวโน้มชะลอตัวหลังมีการประกาศ Reciprocal Tariff ประกอบกับการส่งออกพลังงานที่เป็นสินค้าส่งออกหลักยังลดลงจากราคาสินค้าพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวลงจึงฉุดภาพรวม ขณะที่สินค้าอื่นๆ ก็มีแนวโน้มชะลอตัวตามภาพเศรษฐกิจ อาทิ กระดาษ สินค้าเกษตร ไม้ ยางพารา และปุ๋ย

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลลาวยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่ตามรายงานของ USTR มีประเด็นที่สหรัฐต้องการให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตยานยนต์ที่อยู่ในระดับสูง ความไม่โปร่งใสในกระบวนการศุลกากร และเพิ่มความเข้มงวดด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการที่มีสินค้าปลอมวางจำหน่าย

ในเบื้องต้น Reciprocal Tariffs คาดส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP เวียดนามและกัมพูชามากที่สุดที่ 1.5% และ 1.4% ตามลำดับ ส่วนสปป.ลาว และอินโดนีเซียได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ

Reciprocal Tariffs คาดส่งผลต่อศักยภาพในสถานะฐานการผลิตของเวียดนามและกัมพูชาค่อนข้างมาก และอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงในระยะยาว ในขณะที่ผลกระทบต่ออินโดนีเซียมีจำกัด เนื่องจากประเทศเป็นตลาดใหญ่พึ่งพาการส่งออกน้อย และมีแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง จึงยังเป็นแต้มต่อในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ การเรียกเก็บ Reciprocal Tariffs กับทุกชาติของสหรัฐ มองว่าเป็นเกมการเจรจาของสหรัฐ เพื่อนำมาสู่ข้อตกลงใหม่ จึงจำเป็นต้องติดตามผลการเจรจาที่จะออกมา เพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าการลงทุนและแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละประเทศต่อไปในระยะข้างหน้า

ปัจจุบันไทยส่งออกไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชาและสปป.ลาว รวมมูลค่าส่งออก 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าว

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap