รู้หรือไม่! ทุกวันนี้สัดส่วนผลิตไฟฟ้าในไทย ใครผลิตอยู่เท่าไร? ค่าไฟแพง ใครได้ ใครรับกรรม

มหากาพย์ “ค่าไฟแพง” ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้ง กลายเป็นปัญหาทุกยุคทุกสมัยของทุกรัฐบาลที่ถูกพูดถึง แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ได้เบ็ดเสร็จ ทุก 4 เดือนที่ถึงวงรอบการเคาะขึ้นค่าไฟ นักธุรกิจ ยันชาวบ้านก็ต้องมาคอยลุ้นกันทุกรอบ ทั้งที่ทุกรัฐบาล ต่างสัญญาจะแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพง แต่หลายครั้งประชาชนก็ต้องผิดหวังกับประโยคที่ว่า เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เซ็นกันมานานแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกเอกชนฟ้อง!! ประชาชนเลยต้องรับผลกระทบไปเต็มๆ

จึงมีคำถามว่า แล้วทุกวันนี้ค่าไฟที่เราจ่ายๆ กันทุกบาททุกสตางค์ เงินไปที่ไหน?? ทำไมบริษัทเอกชนด้านพลังงาน ถึงมีแต่รวย รวย รวย ผลประกอบการทะลักทะลาย

วันนี้จะมาสรุปกำลังผลิตไฟฟ้าว่า ใครมีสัดส่วนการผลิตเท่าไรกันแน่? จากเดิมการผลิตไฟฟ้าปี 43 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัดส่วนสูงอยู่ที่ 77 % แต่สัดส่วนดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ กฟผ. ประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) เป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ปี 37 หลังจากประกาศรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ในปี 35

เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นมองว่า การลงทุนโรงไฟฟ้า ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงต้องการให้เอกชนมาลงทุนแทน แล้วให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อ จนล่าสุดภาคเอกชนผลิตไฟฟ้ารวมกันแล้ว พุ่งถึงสัดส่วน 55.66% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่วน กฟผ. เหลือเพียงสัดส่วน 32.06% ขณะที่ทุกครั้งที่ต้องแก้ปัญหาค่าไฟแพง ก็เป็น กฟผ. อีกเช่นกัน ที่ต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อนทุกครั้ง เคยแบกหนี้มากกว่าแสนล้านบาทมาก่อน

สำหรับ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าล่าสุดของประเทศไทยในปี 67 ณ วันที่เกิดกำลังไฟฟ้าสูงสุด (พีก)

ผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 18,973.50 เมกะวัตต์ สัดส่วน 37.41%

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 16,261.02 เมกะวัตต์ สัดส่วน 32.06%

ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) 9,254.68 เมกะวัตต์ สัดส่วน 18.25%

ผู้ผลิตไฟฟ้าต่างประเทศ (นำเข้าและแลกเปลี่ยน) 6,234.90 เมกะวัตต์ สัดส่วน 12.29%

รวม 50,724.1 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เคยระบุบนเวทีการบรรยายหัวข้อ ‘ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต’ ให้แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2 ได้ระบุหนึ่งในใจความสำคัญปัญหาค่าไฟฟ้าของไทยว่า ตอนนี้ไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 เมกะวัตต์ ซึ่งตามกฎหมายหน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 เมกะวัตต์ เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 เมกะวัตต์ และ ในส่วนเอกชนรายใหญ่นี้มีเพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 เมกะวัตต์!!

สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และมีปัญหาจากสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ เพื่อจูงใจนักลงทุน และแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็มีการแก้ไขจนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าต้นทุนสูงและหาคนปล่อยกู้ยาก โดยทำสัญญากันมาตั้งแต่ปี 2550แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ สัญญาเหล่านี้ไม่มีการหมดอายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER นี้ เรามีมากกว่า 500 สัญญา

ปี 67 ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุด 36,000 เมกะวัตต์ ค่าเฉลี่ย 25,100 เมกะวัตต์ แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ทำให้เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 เมกะวัตต์ และมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร แต่ตอนทำสัญญา เอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ต้องลงทุนสูง และหากเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิต จะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการจ่าย ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ให้เต็มกำลังการผลิต ซึ่งเป็นการจ่ายเหมือนเดินเครื่องจักรปกติและ ทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ

“พีระพันธุ์”ย้ำอีกว่า นี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี 2511 ซึ่งสภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิจแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้า โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap