ตลาดการเงินจับตาตัวเลขการส่งออกไทย หลังทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

เงินบาทรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง จับตาสัปดาห์หน้า เผยตัวเลขการส่งออกไทย

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครึ่งที่ 32.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามการฟื้นตัวของราคาทองคำตลาดโลก

เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวกลับมาของราคาทองคำในตลาดโลกในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกับยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องดีลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าอื่นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินหยวน ขณะที่ ประเด็นเรื่องการปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ โดย Moody’s มาอยู่ที่ Aa1 ยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง สวนทางเงินบาทที่มีปัจจัยบวกหนุนตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของไทยที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเกือบตลอดสัปดาห์ โดยแข็งค่าผ่านแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครึ่งที่ 32.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ 

ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของฐานะการคลังและปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ หลังมีความพยายามเดินหน้าร่างกฎหมายปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐฯ ซึ่ง ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์พยายามผลักดันให้ผ่านสภาคองเกรส

ในวันศุกร์ที่ 23 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 พ.ค.)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,239 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 16,491 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 16,994 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 503 ล้านบาท)

สัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 พ.ค. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.10-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย. ของไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติและทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก 

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE เดือนเม.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 (Prelim.) บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 6-7 พ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นเกี่ยวกับสงครามการค้า รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น และข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ของจีน

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์ 2009-2020 สถานีย่อยของคนไทย      ติดต่อเรา   SiteMap